วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

นิทานธรรมดาโลก (๘)


๒๓. ผึ้งกับแมลงวัน

        ในกาลคร้ังหนึ่ง  ผึ้งตัวหนึ่งถูกคนเอาควันรมรังผึ้ง  เอารังผึ้งไปเป็นอาหาร  ผึ้งตัวนี้ถูกควันไฟและความร้อน  ปีกขาดตกอยู่ที่พื้นหญ้าใกล้ๆกับอุจจาระสัตว์กองหนึ่ง  มีแมลงวันมาตอมอยู่  จึงได้พบกับแมลงวันแก่ตัวหนึ่ง  ซึ่งกินอาหารจากอุจจาระอิ่มแล้ว  เกาะใบหญ้า ใช้ขาท้ังสองเช็ดถูปากอยู่  
        เมื่อแมลงวันแก่เห็นผึ้ง  จึงร้องทักว่า 
        "อ้าว  ผึ้งวันนี้ท่านไม่ไปหาอาหารกินหรือ เหตุไฉนจึงมาเกาะนิ่งอยู่ที่ต้นไม้อันเขียวขจีอยู่เฉยๆเล่า ?"
        "อ๋อ  แมลงวัน  เราถูกคนรมควันรมไฟ  ปีกของเราขาด บินไปไม่ได้เราจึงต้องเกาะนิ่งๆ  อยู่ดังนี้  ท่านเล่าไม่ไปหาอาหารกินหรือ ?"
        "อาหารเราก็อยู่ที่พื้นหญ้านั่น  ไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหนให้เหนื่อยยากลำบากกาย  สัตว์น้อยใหญ่ย่อมถ่ายมูลกองไว้ให้เรากินอย่างสบาย   อาหารมีอยู่อย่างฟุ่มเฟือยเหลือเกินตลอดวันตลอดชีวิต ไม่มีหมดวันหมดสิ้น ตราบใดที่สัตว์น้อยใหญ่ยังถ่ายมูลทิ้งไว้ให้เรา"
        "อาหารของเรา  เกิดมีอยู่ตามธรรมชาติ บนยอดไม้บนดอกไม้นานาพันธ์ุในพงพีทุกก้านดอกย่อมมีเกสรน้ำหวานอันเอร็ดอร่อย   เราก็บินไปดูดกินจนอิ่ม  แล้วอมใส่ปากไปรวงรัง   เพื่อสร้างรวงรังของเราอีกด้วย  อาหารคือน้ำหวานจากเกสรดอกไม้นี้  ไม่มีวันหมดสิ้นเลยมีอยู่ตลอดวันตลอดชีวิตตราบใดที่ยังมีต้นไม้และดอกไม้"ฃ
        "อ๋อ ผึ้งอย่างท่านนี้  กินน้ำหวานจากดอกไม้แล้วยังขนเอาไปเลี้ยงลูกอ่อนด้วยหรือ"
        "ใช่แล้ว  เราต้องสะสมอาหารไว้เลี้ยงลุกอ่อนด้วย  ส่วนมูลของเรานั้นก็ถ่ายออกมาสร้างเป็นรวงรัง  เป็นตึกราม  เป็นคลังเก็บน้ำหวานขังไว้กินได้ในยามขาดแคลนด้วย  ท่านเล่าเก็บอาหารไว้ที่ไหน  เอาอะไรเลี้ยงลูกอ่อน ?"
        "โอ สบายมาก   พวกเราชาวแมลงวัน  ลูกอ่อนของเราก็ไข่หยอด ไข่วางทิ้งไว้ในกองอุจจาระนั้น  ลูกอ่อนก็อาศัยอยู่ในกองอาหารนั้นเอง  ลูกกินจนเติบโตเป็นแมลงวัน  เป็นการสบายมาก ไม่ต้องไปสร้างรวงรังให้ลำบาก  ไม่ต้องสะสมอาหารไว้กินอะไรอีก  เพราะมันมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ  ส่วนตัวเราก็เที่ยวสัญจรไปไม่ต้องห่วงกังวลอะไรกับรวงรัง  คลังอาหารหรือลูกอ่อน  เราไม่ต้องมีภาระอันหนักอึ้งเหมือนพวกท่าน สบายดีมาก"
        "เราได้ยินคนเขาพูดกันเข้าหูเราบ่อยๆนะว่า  "ขี้เกียจเป็นแมลงวัน ขยันเป็นแมงผึ้ง"  เขาชมเราว่าเป็นสัตว์ขยัน เขาตำหนิพวกท่านว่า  เป็นสัตว์ขี้เกียจ ท่านไม่ได้ยินมั่งเลยหรือ?"
        "เราไม่สนใจหรอก  คำสรรเสริญหรือคำนินทาของสัตว์ใดๆ ที่เรียกว่าคน  เพราะเราเห็นอยู่ตำตาว่าสัตว์คนนั้นขี้เกียจกว่าแมลงวันอย่างเราหลายเท่านัก  ที่ว่าขยันๆนั้น  ขนาดยอดคนขยันก็ยังขยันน้อยกว่าแมลงวันเสียอีกเล่า  สัตว์คนนี้ก็ดีแต่พูดเท่านั้น  ส่วนการทำมาหากินด้วยความขยันหมั่นเพียรนั้น สู้แต่แมลงวันอย่างเราก็ไม่ได้"
        "นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า  สัตว์ตัวน้อยๆเช่นแมลงวันมันก็ตำหนิสัตว์มนุษย์ตัวโตๆว่าขยันน้อยกว่ามันเสียอีก"
๐๐๐๐๐๐๐๐ 


๒๔. แมงหวี่ขี้คุย

        ในกาลวันหนึ่ง  แมงหวี่กับยุงได้พบกันบนผิวกายคนแก่คนหนึ่งซึ่งนั่งอยู่ในฤดูฝนตอนเช้าตรู่วันนั้น  เจ้ายุงก็บินมาเกาะใบหน้าของชายชรา ฝังปลายปากอันแหลมคมของมันลงบนผิวหนังอันหนาและเหี่ยวแห้งของชายชราเพื่อดูดเอาเลือดกินแก้หิว  ส่วนแมงหวี่ก็บินมาเกาะในหูของชายชรา เพื่อดูดกินเลือดจากใบหูแก้ความกระหาย   เมื่อชายชรารู้สีกตัวว่ามีสัตว์ตัวน้อยๆมารบกวน ก็โบกมือปัดไปมาตามใบหน้าและใบหู เจ้าสัตว์ตัวน้อยทั้งคู่ก็บินไปเกาะอยู่บนเส้นผมสีขาวของชายชราชั่วคราว
        เจ้าแมงหวี่เห็นยุงมาเกาะอยู่ใกล้ๆ ก็ร้องทักว่า "อรุณสวัสดิ์เจ้าสัตว์ตัวโตมีนามว่า ยุง  สบายดีดอกหรือ?"
        เจ้ายุงครั้นได้ยินเสียงเล็กๆแหลมๆ ก็คำรามตอบไปว่า "สวัสดีอ้ายน้อง สบายดี เอ็งละ เป็นไงมั่งละอาหารการกิน?"
        "ก็สบายดีอยู่หรอก แต่ชักเริ่มหิวแล้ว  นอนแสบท้องมาทั้งคืนเลย พบมาพบเหยื่อเจ้าสัตว์มนุษย์คนนี้แหละ แต่แหมมันก็หวงเลือดจัง"
        "เนื้อสัตว์มนุษย์ตรงไหน ที่ว่าอร่อยที่สุดล่ะ?"
        "ชอบตรงหู" แมงหวี่ตอบทันที  "ท่านล่ะ?"
        "เราชอบตรงใบหน้า  ตรงแผ่นหลัง เลือดดูดดื่ม่ได้สบายดีมาก เวลาสัตว์มนุษย์นี่นอนหลับเวลากลางคืน"
        "อ๋อ  ท่านนี้ขี้ขลาดนะ  ชอบหากินตอนกลางคืน เวลาเจ้าสัตว์มนุษย์ตัวยักษ์นี้มันเผลอ  ส่วนเรานี้หากินกลางวัน  ตอนเช้าตรู่  กับตอนเย็นๆ เวลาสลัวๆ เราชอบกัดใบหูเจ้ามนุษย์สัตว์นี่มาก"
        "ทำไมท่านจึงชอบกัดกินใบหู?"
        "อ๋อ เหตุผลน่ะหรือ?"  เจ้าแมงหวี่คุยอวดยุง
        "เราตั้งใจจะกลืนหัวเจ้าสัตว์มนุษย์นี่แหละแต่มันติดอยู่ตรงใบหู  กลืนหัวมันไม่ลงก็เลยกัดหูมันก่อน  กัดให้หูมันขาดเสียก่อนแล้วเราจะกลืนหัวมนุษย์ภายหลัง"
        นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า  สัตว์ตัวเล็กก็ยิ่งคุยใหญ่คุยโต  เป็นธรรดาอย่าได้สงสัยเลย ถ้าได้ยินใครคุยอวดใหญ่ก็ให้เข้าใจว่าเพราะเขาเล็ก  ถ้าได้ยินใครอวดมั่งมีก็ให้เข้าใจได้ทันทีว่าเขาจน ถ้าได้ยินใครคุยอวดรู้อวดฉลาด  ก็จงเข้าใจเถิดว่าเขาโง่  ไม่รู้อะไรนักหรอก
๐๐๐๐๐๐๐๐

       
๒๕. กิ้งกือกับตะขาบ 

        กิ้งกือกับตะขาบ  แต่ปางบรรพ์  เมื่อสร้างโลกนั้นเป็นพี่น้องฝาแฝดกัน ต่อมาก็ไปเรียนวิชาจากสำนักพระอาจารย์องค์เดียวกันในป่าหิมพานต์  แต่พี่น้องคู่นี้มีอุปนิสัยสันดานแตกต่างกันในการรักษาตัวให้อยู่รอดปลอดภัย 
       ตะขาบนั้นคิดว่าการจะรักษาตัวให้อยู่รอดปลอดภัยจากศัตรูนั้น จำเป็นจะต้องป้องกันตัวเองด้วยการมีพิษไว้ป้องกันตัว   ขอให้พระอาจารย์ประสิทธิประสาทวิทยาให้   พระอาจารย์ผู้รู้แจ้งอัธยาศัยของศิษย์ว่าจะต้องสอนวิชาและประสิทธิ์วิชาให้ตามแต่อุปนิสัยสันดานของสัตว์จึงจะได้ผลดี   พระอาจารย์จึงประสิทธิประสาทให้ตะขาบมีพิษที่เขี้ยว  เวลามีศัตรูมาทำอันตรายก็ให้ใช้เขี้ยวขบกัดให้ศัตรุเจ็บปวดจนต้องปล่อยตัวไป   ให้อยู่รอดปลอดภัยจากอันตรายที่จะมาถึงตัว 
        ส่วนเจ้ากิ้งกือนั้น เป็นสัตว์ที่มีเมตตาจิต  แม้แต่ศัตรูที่จะทำอันตรายตนก็ไม่ประสงค์ที่จะทำอันตรายตอบ  จึงขอให้อาจารย์บอกวิธีต่อสู้ศัตรูให้โดยไม่กัดทำอันตรายศัตรู  พระอาจารย์บอกให้ยอมแพ้เสีย  คือนิ่งเฉยเสีย ทำเหมือนว่าตายแล้ว ยอมแพ้ทุกอย่าง ศัตรูก็จะไม่ทำอันตรายเหมือนกัน  เพราะเป็นธรรมชาติของสัตว์จำนวนมาก  ไม่ทำอันตรายต่อสัตว์ที่ไม่ทำอันตรายตน  สัตว์ท้ังสองชนิดนี้จึงดำเนินชีวิตตามอุปนิสัยสันดาน  และวิทยาการที่พระอาจารย์ประสิทธิให้สืบมา
        ตะขาบนั้นแม้มีสัตว์ใดมาต้องตัว มันก็จะขบกัด เอาจนเจ็บปวดด้วยน้ำลายของมัน  แล้วต้องปล่อยตัวมันไปทันที มันจึงมีชีวิตอยู่สืบพืชพันธ์ต่อมา
        กิ้งกือน้ันเวลามีสัตว์ใดมาต้องตัวมัน  มันจะหยุดนิ่งและม้วนตัวกลมแน่น  ทำประหนึ่งว่าตายแล้ว สัตว์ที่ถูกต้องตัวมันก็จะปล่อยตัวมันให้อยู่รอดปลอดภัย  สืบพืชพันธ์คู่โลกธาตุสืบต่อมาจนทุกวันนี้ 
        แต่เป็นที่สังเกตุของลิง ซึ่งมีชีวิตปะปนอยู่กับทั้งกิ้งกือและตะขาบ
        ลิงตัวหนึ่งพูดว่า "ตะขาบนี้ มันมีพิษภัยแตะต้องตัวมันเข้าไม่ได้  มันกัดเราเจ็บปวดนัก  มันจึงรักษาตัวมันอยู่รอด ไม่มีสัตว์อะไร กล้ำกรายมาทำอันตรายมันได้เลย"
        ลิงแก่ตัวหนึ่งได้สังเกตุความประพฤติของตะขาบมาช้านาน จึงพูดว่า "เพราะตะขาบมีพิษที่เขี้ยว ไว้กัดสัตว์อื่นเพื่อป้องกันตัวนี้แหละตะขาบรอดตัวมาได้ก็จริง   แต่มีเวรภัยจากสัตว์ใหญ่ ๒ประเภท ประเภทหนึ่งคือ ช้าง ย่อมกระทืบตะขาบตายคาตืนอยู่เสมอ  เพราะตะขาบไปกัดช้างเข้าจนมันรำคาญ สัตว์ใหญ่อีกประเภทหนึ่งคือมนุษย์ ย่อมเอาไม้มาตีตะขาบตายอยู่เนืองๆ   เพราะตะขาบไปกัดเอาสัตว์มนุษย์เข้า  ส่วนกิ้งกือนั้นเราไม่เห็นช้างเหยียบกิ้งกือตายเลย  สัตว์มนุษย์ก็ไม่ทุบตีกิ้งกือเลย  เพราะไม่มีเวรภัยแก่สัตว์อื่นๆ"
       นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า การป้องกันภัยตัวเราน้ัน ถ้าไม่ทำอันตรายต่อสัตว์อื่น  ก็ย่อมจะไม่มีเวรภัยแก่ตัวเอง  ถ้าไปทำอันตรายแก่สัตว์อื่นก็ย่อมจะมีเวรภัยแก่ตนเอง 

๐๐๐๐๐๐๐๐ 
(โปรดติดตามตอนต่อไป)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น