วันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

นิทานธรรมดาโลก (๑๑)


๓๒.คางคกขึ้นวอ

     ในกาลคร้้งหนึ่ง  ยังมีพระราชาองค์หนึ่งได้ขึ้นครองเขตแคว้นแห่งหนึ่งซึ่งประเทศของพระองค์มีอริราชศัตรู  ต้องทำการรบสู้ป้องกันประเทศอยู่ในขณะน้ัน  วันหนึ่งพระองค์ทรงพักผ่อนพระอิริยาบทอยู่ในค่ายหลวงในเวลาใกล้ค่ำ  ทรงได้ยินเสียงอย่างหนึ่งอยู่ในพุ่มไม้ชายป่าใกล้ลำธาร  ทรงสดับเสียงนั้นคล้ายๆเสียงคนกัดฟันกรอดๆ อยู่ตลอดเวลา   จึงทรงเรียกเสนาคนสนิทมาแล้วตรัสถามว่า
     "นั่นเสียงอะไร  เหมือนเสียงคนกัดฟันกรอดๆอยู่  เอ็งรู้ไหม?"
     ฝ่ายเสนาคนนั้นรู้อยู่แก่ใจว่าเสียงนั้นคือเสียงคางคก  มันร้องเรียกหาคู่เพื่อจะสมสู่ก่อนฝนจะตก  ถัาคางคกร้องเหมือนเสียงคนกัดฟันกรอดๆ อย่างนี้  ก็แสดงว่าในไม่ช้าจะมีฝนตก  แต่เสนาคนน้ันเป็นคนหัวประจบ จึงกราบทูลเพื่อให้สบพระอัธยาศัย  เหมาะเจาะแก่เหตุการณ์ที่กำลังอยู่ในระหว่างหน้าศึก  มันจึงเดินไปดูที่ชายป่าใกล้ลำธารแล้วกลับมาทูลว่า 
     "เสียงนั่นคือเสียงสัตว์ชนิดหนึ่ง เรียกว่า คางคก มันได้อาศัยพระบรมโพธิสมภาร ในแผ่นดินของพระองค์มาด้วยความผาสุก  จีงมีความกตัญญูรู้พระคุณ  และมีความจงรักภักดีต่อพระองค์  เมื่อมันรู้ว่ามีอริราชไพรีมันก็มีความโกรธแค้น  มันจึงกัดฟันกรอดๆ อยู่พระเจ้าค่ะ"
     พระราชาได้ฟังก็ตรัสว่า  "เออถ้ากระนั้นก็ต้องตอบแทนคุณงามความดีของมันให้ปรากฎในแผ่นดิน เพื่อจะได้เป็นเยี่ยงอย่างแก่คนทั้งหลาย"
     "จะตอบแทนคุณงามความชอบแก่คางคกได้อย่างไรเล่าพระพุทธเจ้าค่ะ"
     "เอ็งไปทำวอช่อฟ้าหลังคาแดงขึ้นให้เจ้าคุณคางคกนี้นั่ง  ให้มีคนหามวอ ๔ คน คอยหามคางคกให้เข้าเฝ้าในท้องพระโรงเหมือนขุนนางชั้นผุ้ใหญ่"
     ต่อจากนั้น เสนาจึงทำวอขึ้น ให้มีคนหามวอให้คางคกขึ้นนั่งวอ เข้าเฝ้าพระราชาทุกวัน เหมือนดังขุนนางชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่ง  เจ้าคางคกขุนนางก็นั่งชูคางแข็งเข้าวังทุกวัน  อยู่มาวันหนึ่งเกิดอาเพศมีช้างเผือกในโรงพระคชาธารเกิดอาละวาดไล่แทงคนเป็นการใหญ่  ผู้คนจึงหนีกันเป็นอลหม่าน   ช้างเผือกอาละวาดนั้นแล่นมาตามถนนหลวง สวนกับคนหามวอคางคก คนหามวอคางคกตกใจหนี  ทิ้งวอไว้กลางทาง ช้างแล่นมาด้วยกำลังแรง จึงเหยียบกระทืบวอนั้นแตกหักหมด  รวมทั้งเจ้าคางคกขุนนางตัวน้ัน  แหลกเหลวคาตีนช้างเผือกด้วย
     จึงมีคนพูดกันเป็นคติติดปากต่อมาว่า "คางคกขึ้นวอ"   ถ้าเห็นไพรคนใดได้ดี มียศศักดิ์ แล้วลืมตัวหลงยศ เห่อตำแหน่ง  ก็จะพูดเยาะเย้ยเสียดสีว่า "เจ้าคางคกขึ้นวอ"
     นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า เสนาหัวประจบนั้นเองที่เป็นต้นเหตุแห่งความวิบัติอาเพศของเรื่องนี้  เพราะเขากราบทูลให้พระราชาทำอะไรๆไขว้เขวไป  จนถึงขั่นตั้งคางคกให้เป็นขุนนางขึ้นวอหามเข้าวังจนถูกช้างเหยียบตายดังนี้ 

๐๐๐๐๐๐๐๐๐ 

๓๓. กิ้งก่าได้ทอง

     ในกาลคร้ังหนึ่ง ยังมีพระราชาพระองค์หนึ่งเสด็จประพาสไปยังพระราชอุทยาน  ขณะเสด็จผ่านไปชายป่า  ทรงทอดพระเนตรเห็นกิ้งก่าหัวเขียวตัวหนี่ง  ทำหัวหงุบหงับ ก้มๆเงยๆ อยู่  หันหัวมาทางพระราชาด้วย  จึงทรงตรัสถามอำมาตย์ใกล้ชิดว่า
     "ใครรู้บ้างว่าสัตว์น้อยๆตัวนั้น เรียกว่าอะไร ?"
     อำมาตย์ทูลตอบว่า
     "เขาเรียกมันว่า กิ้งก่าพระพุทธเจ้าข้า"
     "มันกำลังทำอะไรอยู่ ?"
     อำมาตย์คนนี้ได้ดีขึ้นมาเพราะรู้จักกราบทูลให้ถูกกาละเทศะเป็นที่สบพระอัธยาศัยอยู่เสมอมา  จึงกราบทูลว่า 
     "เจ้ากิ้งก่าหัวเขียวตัวนี้  ได้อาศัยอยู่ในพระราชอุทยานมาช้านานด้วยความผาสุก  จึงมีความจงรักภักดีด้วยเดชะบารมี  มันเห็นพระองค์เสด็จมามันจึงก้มหัวถวายคำนับพระพุทธเจ้าข้า"
     พระราชาจึงตรัสว่า
     "เจ้าพูดเข้าท่าดี  เอาเถอะถึงจะเท็จจริงอย่างไรใครๆ ก็ได้ยินกันทั่วหน้า  เพราะฉนั้นเราจะตอบแทนความจงรักภักดีของเจ้ากิ้งก่าตัวนี้ ให้ปรากฎแก่ชาวโลก  เพื่อจะได้เตือนใจคนท้ังหลายในแผ่นดินนี้  ให้ทำสร้อยมาคล้องกิ้งก่าตัวเขียวตัวนี้  ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป"
     อำมาตย์จึงจัดการให้เป็นไปตามพระราชโองการนับแต่บัดนั้นมา  เจ้ากิ้งก่าหัวเขียวก็มีสร้อยทองคล้องคออย่างสวยงาม
     วันหนึ่งพระราชาเสด็จไปประพาสพระราชอุทยานอีกเหมือนเคย แต่คราวนี้เจ้ากิ้งก่าหัวเขียวมีสร้อยทองคล้องคอตัวนั้น  มันเกาะต้นไม้ชูหัวนิ่งอยู่เฉยๆ  ไม่ผงกหัวถวายคำนับพระราชาเหมือนอย่างเคย 
     พระราชาจึงตรัสถามอำมาตย์หัวประจบว่า  "วันนี้เหตุใดเจ้ากิ้งก่าหัวเขียวตัวนี้  มันจึงเกาะกิ่งไม้นิ่งเฉยอยู่นั่น  ไหนเจ้าว่ามันมีความกตัญญุต่อเราอย่างไรเล่า ?"
     ฝ่ายอำมาตย์หัวประจบนั้นย่อมมีความคิดอันว่องไว และสามารถกราบทูลเอาตัวรอดได้ทุกเรื่อง  จึงได้กราบทูลว่า 
     "เจ้ากิ้งก่าหัวเขียวตัวนี้ ตั้งแต่ได้ทองมาคล้องคอ มียศศักดิ์สูงขึ้นก็ลืมตัว หลงยศ ผู้ใหญ่ใครผ่านมาก็ไม่คำนับเหมือนแต่ก่อน มันจีงไม่คำนับพระองค์วันนี้  เป็นพยานหลักฐานเห็นอยู่แต่พระเนตร พระกรรณ  พระพุทธเจ้าข้า"
     พระราชาได้ทรงฟังก็ตรัสว่า
     "เสนาอำมาตย์ที่ได้ดีมียศแล้ว   กลับทรยศต่อแผ่นดินจะทำอย่างไรเล่า?"
     "ต้องถอดยศ พระพุทธเจ้าข้า"
     "ถ้ากิ้งก่าได้ทองคล้องคอ  มียศศักดิ์แล้วกลับเนรคุณอย่างนี้ควรจะทำอย่างไร?"
     "ต้องริบทอง ถอดยศเสียพระพุทธเจ้าข้า"
     "ข้าเคยสั่งให้เจ้าทำทองคล้องคอกิ้งก่า  เพราะเจ้าบอกเราว่ากิ้งก่ามีความจงรักภักดี   บัดนี้เจ้าบอกว่า เจ้ากิ้งก่าอกตัญญู  เจ้าก็จงถอดทองคล้องคอกิ้งก่าออกมาเสียด้วย"
    อำมาตย์หัวประจบจึงไปจับกิ้งก่าถอดทองคล้องคอกิ้งก่ากลับคืนมา  แล้วไล่กิ้งก่าหัวเขียวมิให้อาศัยอยู่ในพระราชอุทยานต่อไปด้วย  แล้วพูดว่า กิ้งก่าได้ทองคล้องคอแล้วทำคอแข็ง  จึงต้องถอดสร้อยทองออกเหมือนขุนนางเห่อยศ  ลืมตัว ย่อมจะเสือมจากยศ
     นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า กิ้งก่าได้ทองและถูกถอดทองออกจากคอ  เพราะปากสอพลอของอำมาตย์สอพลอแท้ๆ
๐๐๐๐๐๐๐๐๐


๓๔. นกต่อ 
     
     นกเขาตัวหนึ่่ง   มันเติบโตขึ้นมาในป่าจนเป็นนกหนุ่มตัวโต  ปีกขาแข็งแรง ที่พิเศษก็คือ มีคารมดี เสียงดี มันจับยอดไม้ส่งเสียงขันก้องอยู่ในป่าแห่งนั้น  บรรดานกอื่นครั้นได้ยินเสียงมันใหญ่ดังกังวานก้องป่า  ก็ไม่มีนกหนุ่มตัวไหนจะขันแข่งสู้  ต่างก็เงียบเสียงลง  ยังมีนกเขาแก่ตัวหนึ่ง  เคยส่งเสียงขันข่มนกในป่ามาก่อน  จนได้เป็นหัวหน้านกเขาใหญ่ในป่ามาแต่เดิม  ครั้นได้ยินเสียงนกหนุ่มมาส่งเสียงขันอยู่ก็มีความโกรธ  บินโลดขึ้นสู่เวหาอวดพละกำลัง แล้วบินเหิรมาเกาะอยู่คนละพุ่มไม้ส่งเสียงเตือนให้นกหนุ่มรู้ว่า มันเคยเป็นเจ้าป่านี้อยู่ก่อน   แต่เจ้านกหนุ่มมันส่งเสียงขันท้าป่ามาหลายวันแล้ว ไม่มีนกเขาตัวใดขันสู้  วันนี้นกขันสู้ ถึงเสียงน้ันจะดัง  ก็หาได้ดังกังวาลก้องป่าดังเสียงของมันไม่   แม้แต่เสียงลงท้ายก็มี ๒ กุ๊กว่า "จู้ฮุกกรู้  กุ๊ก กุ๊ก"  เท่านั้น แต่เจ้านกหนุ่มขันได้เก่งกว่า  คือมันขันว่า "จู้ฮุกกรู้ กุ๊ก กุ๊ก กุ๊ก"  มันลงท้าย ๓ กุ๊ก มันจึงส่งเสียงขันท้าทายไปตามสัณชาตญานหนุ่มนักสู้  ฝ่ายเจ้านกเขาแก่ยิ่งมีความโกรธ  ที่มีเจ้านกเขาตัวใหม่มาแย่งความเป็นเจ้าป่าของมัน  นกแก่จึงบินขึ้นไปเพื่ออวดพละกำลังอีกครั้งหนึ่ง  เสียงกระพือปีกพึบๆของนกเขาแก่  เจ้านกเขาหนุ่มก็จ้องดูอยู่  ครั้นแล้วก็บินมาเกาะพุ่มไม้เดียวกับนกเขาหนุ่ม  ขันไป  ดูไปเป็นเชิงข่มขู่ให้ยอมกลัว  จู้ฮุกกรุ้  จู้ฮุกกรู  ขยับใกล้เข้ามาทุกที เจ้านกหนุ่มก็ขันสู้  จู้ฮูกกรู้ จู้ฮุกกรู้  จนกระทั่งนกเขาแก่ใกล้เข้ามาถึงตัว  แล้วเข้าตีด้วยปีกเข้าจิกด้วยปาก  นกเขาหนุ่มก็ไม่หนี  ได้ตีปีกสู้  จิกด้วยปากสู้  อยู่สักพักหนึ่งเพราะเหตุที่นกแก่มันบินเหิรฟ้าถึงสองหน  และกำลังโกรธจัดเสียพละกำลังไปมาก  จึงแพ้นกหนุ่ม  เมื่อสู้ไม่ได้แล้วมันก็บินหนีไปอยู่ป่าอื่น
     นับแต่วันนั้นมา เจ้านกหนุ่มเสียงก้องขันสามกุ๊ก ก็ได้เป็นเจ้าป่าแทน มันส่งเสียงขันท้าทายข่มป่าอยู่ทุกเช้า เย็น  เสียง จู้ฮุกกรู้ กุ๊ก กุ๊ก กุ๊ก   นกอื่นในป่าได้แต่เงียบเสียงคอยฟังแต่เสียงมัน  หามีนกตัวใดเข้ามาแข่งขันสํู้มันได้ไม่ มันก็ผยองในความเป็นเจ้าป่าของมัน  ส่งเสียงขันข่มป่าอยู่บนยอดไม้ทกวัน
     วันหนึ่งมีชายนักต่อนกเขาคนหนึ่ง  เข้าต่อนกเขาในป่า  เอานกต่อใส่พะเนียดมา ครั้นได้ยินนกเขาใหญ่เสียงดีขันสามกุ๊กอยู่บนยอดไม้สูง   จึงแอบเอาพะเนียดขึ้นไปติดตั้งไว้บนกิ่งไม้ ดีดมือไว้นกเขาต่อส่งเสียง ขันว่า จู้ฮุกกรู้ กุ๊ก กุ๊ก  เป็นเสียงขันท้านกป่าขึ้น 
     เจ้านกเขาหนุ่มเจ้าป่าสามกุ๊ก  คร้ันได้ยินเสียงนกเขาตัวใหม่มาส่งเสียงขันอยู่พุ่มไม้เดียวกันก็โกรธว่ามีเจ้านกเขาจากป่าไหนมาส่งเสียงขันท้าถึงถิ่นนี้   มันจึงส่งเสียงขันสู้  ขันโต้ตอบกันอยู่นาน  เจ้านกตัวใหม่ก็ไม่เห็นว่าจะบินตามมาตีกันหรือไม่เห็นบินเหิรฟ้าแสดงพละกำลังแต่อย่างใด  มันจึงเป็นฝ่ายบินเหิรฟ้าเสียเองเพื่ออวดพลัง  แล้วก็ส่งเสียงขันท้าทายต่อไป  เจ้านกต่อในพะเนียดก็ขันโต้ตอบอยู่เรื่อยๆ ไม่ยอมกลัวไม่ยอมหยุด  เจ้านกหนุ่มเจ้าป่าจึงปีนขยับใกล้เข้ามาทุกที  จนถึงพะเนียด  แต่มันก็แปลกใจที่เห็นนกต่อเกาะคอนนิ่งอยู่ในพะเนียด  มันทำท่าเหมือนไม่ยอมออกจากพุ่มไม้หนาออกมาสู้  เจ้านกหนุ่มจึงขยับเข้าไปถึงตัวนกต่อเพื่อจะตีปีก จิกตีให้หนีไป  ทันใดนั้นพะเนียดก็ลัดเพียะ  ตาข่ายพะเนียดก็คลุมครอบเจ้านกเขาป่าไว้ดิ้นไม่หลุด คนต่อนกก็ถอดเสาพะเนียด ออกจากพุ่มไม้  จับเอานกเขาป่าคารมดีไปบ้าน
     นิทานเรื่องนี้ สอนให้รู้ว่า นกเขาต่อที่คนเขาเอาไปเลี้ยงไว้น้้นเองมาล่อให้นกป่าติดพะเนียด  จึงเป็นอันว่านกเขาด้วยกันนั้นแหละที่มาล่อหลอกนกป่าให้ติดพะเนียด  เหมือนชายหนุ่มหน้าโง่บางคนที่หลงกลนางนกต่อที่เขาเอามาล่อให้ติดกับ  ล้วงเอาทรัพย์และความลับหรือเอาความเป็นโสดเป็นอิสระภาพไปได้  บางทีก็เอาชีวิตเสียด้วยก็มี 
๐๐๐๐๐๐๐๐
     


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น