วันพฤหัสบดีที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

นิทานธรรมดาโลก (๙)


๒๖. อึ่งอ่างพองลม
      คืนวันหนึ่ง  หลังจากฝนตกใหญ่ซาเม็ดลงแล้ว  อึ่งอ่างซึ่งฝังตัวอยู่ในดินขอบสระน้ำก็ออกจากดินขึ้นมาร้องเซ็งแซ่อยู่ริมสระ  กบเขียดส่งเสียงร้องขรมอยู่ในบริเวณน้ำขังรอบสระน้ำด้วยกัน
     ขณะน้ันกบตัวผู้ตัวหนึ่ง  ก็กระโดดไปหากบตัวเมีย  เพื่อหาคู่ผสมพันธ์ุกันตามธรรมดาของสัตว์  เผอิญไปพบอึ่งอ่างตัวหนึ่ง  กำลังร้องอึ่งอ่างครางหาคู่ของมันอยู่เหมือนกัน   ครั้นกบกระโดดเข้าใกล้ อึ่งอ่างก็สูดลมหายใจเข้าปอดเต็มแรงแล้วก็พองตัวโตขึ้นกว่าปกติธรรมดา ๑ เท่าตัว  แต่ถึงกระนั้นตัวอึ่งอ่างก็ยังเล็กกว่ากบตัวโต  ๑ เท่า ครั้นกบเห็นดังนั้นจึงหัวเราะแล้วพูดขึ้นว่า
     "เจ้าอึ่งอ่างเอ๋ย  ถึงเจ้าจะพองตัวจนเต็มที่แล้ว ตัวเจ้าก็ยังเล็กกว่าเราอยู่นั่นเอง  เจ้าจะเบ่งพองลมไปทำไม ข้าไม่นึกหวาดหวั่นเจ้าเลยแม้แต่น้อย"
     เจ้าอึ่งอ่างครั้นได้ยินกบตัวโตพูดสบประมาทดังน้ัน จึงร้องตอบว่า 
     "เจ้ากบโง่  ถึงตัวเจ้าโต  เจ้าก็ยังโง่เง่าอยู่นั่นเอง"
     กบโกรธจึงร้องขู่ถามว่า
     "เจ้าว่าเราโง่ได้อย่างไร  เราฉลาดกว่าเจ้าสักร้อยเท่า"
    " เจ้าจะฉลาดตรงไหนเล่า   เพราะเจ้าหารู้ไม่ว่าเราพองลมด้วยเหตุผลอันใด"
     "ก็พองลมเพื่อว่าจะอวดว่าตัวโตนั่นเอง  ทำไมเราจะไม่รู้สัตว์อื่น ๆเขาก็รู้กันว่าอึ่งอ่างพองลมเพราะอวดเก่งเท่านั้น"
     "สัตว์อะไรอีกละ ที่พูดว่าเราพองตัวเพื่ออวดเก่ง?"
     "สัตว์มนุษย์ไงล่ะ  เราได้ยินเขาพูดกันเสมอๆ ว่าอึ่งอ่างพองลมเพื่ออวดเก่ง  เห็นวัวเดินมาก็พองลมจนท้องแตกตาย"
     "สัตว์มนุษย์ไม่นาจะพูดโง่ๆอย่างน้ัน"
     "ก็จริงไหมล่ะ?"
     "ไม่จริงเลย"
     "งั้นเจ้าพองลม สูดลมเข้าปอดมาก เพื่ออะไรเล่ารึ"
     "เราสูดลมเข้าปอดมากก็เพราะเรารู้สึกกลัว  เราจึงสูดลมเข้าปอดให้มากที่สุดเพื่อทำใจให้เข้มแข็ง  แล้วไม่หวาดกลัวภัย"
     "แล้วได้ผลเป็นอย่างไร?"
     "ก็ได้ผลดีมาก  คือใจเราก็เป็นปกติ  ไม่วิตกหวาดหวั่นภัยอันตรายจนต้องกระโดดหนีภัย  เหมือนสัตว์ประเภทกบอย่างท่าน  ในเวลาเดียวกันสัตว์ที่อ้าปากจะกลืนกินเรา  ก็ขบเราไม่ลงเพราะผิวหนังเราเมื่อลมเข้าไปอยู่ในท้องมากๆ  ก็พองเหมือนลูกโป่ง และมีความลื่นคาบเราไปไม่ได้  เราก็ปลอดภัยจากสัตว์ที่จะกลืนกินเรา เช่น งู เป็นต้น  จงจำไว้เถิดเจ้าสัตว์โง่ว่าเราพองลมเพื่อความปลอดภัยของเราต่างหาก"
     นิทานเรื่องนี้ สอนให้รู้ว่า ไม่มีใครรู้จิตใจของผู้อื่นดีเท่าตัวเขาเอง  ถ้าหากเราเป็นเช่นเขา เอาใจเราไปใส่ใจเขา  เราจึงจะรู้จักจิตใจของผู้อื่นดีขึ้น 
๐๐๐๐๐๐๐๐

๒๗. หิ่งห้อยส่องแสง
     เย็นวันหนึ่ง ฝนตกใหญ่จนค่ำ  ที่ริมคลองแห่งหนึ่ง มีต้นลำพูขึ้นอยู่ริมฝั่งเป็นแถว  ผีเสื้อตัวหนึ่งบินเที่ยวตอมกลีบดอกไม้  คร้ันถูกฝนก็เกาะนิ่งอยู่ที่ต้นลำพูน้ันจนถึงกลางคืน  คืนน้ันเดือนมืดจึงเห็นแสงสว่างพราวอยู่ตามต้นลำพูนั้นเป็นอันมาก เป็นที่ประหลาดตาไม่เคยพบเห็นมาก่อน  จึงเพ่งมองไปตามแสงที่ส่องสว่างพราวเหล่าน้ัน  ก็เห็นมันเคลื่อนที่ไปมาได้ด้วย  เจ้าผีเสื้อแสนสวยนั้นอัศจรรย์ใจนัก  เมื่อเห็นสัตว์น้อยๆเคลื่อนที่เห็นได้ที่ก้นของมันมีแสงพราวสุกสว่างจับตาเหมือนดังว่าแสงดาวดวงน้อยๆ  ผีเสื้อรำพึงในใจว่าเกิดมาเป็นผีเสื้อแสนสวยอย่างตัวเรา โลกก็ชื่นชมนักหนาว่ามีปีกแสนสวยเหมือนอย่างนางฟ้า  แต่เห็นทีว่าจะต้องพ่ายแพ้แก่เจ้าสัตว์ที่มองเห็นปีกอันแสนสวยของเราก็หาไม่  แต่เจ้าสัตว์ตัวน้อยๆ เหล่านี้กลับมีแสงสีส่องออกมาจากร่างกายเป็นสีนวลสว่างแพรวพราวตายิ่งนัก  ผีเสื้อรู้สึกอิจฉาอยู่ในใจจึงร้องทักไปว่า 
     "ดูก่อน เจ้าสัตว์น้อย ตัวเจ้ามีนามกรว่าอะไรเล่าจึงเที่ยวเร่ร่อนริมดินในยามค่ำคืนเช่นนี้?"
     "อ้อ เราหรือเขาเรียกชื่อเราว่า หิ่งห้อย"
    "เจ้าไปเอาแสงรัศมีอันแพรวพราวนี้มาแต่ไหน?"
     "อ๋อ  แสงสว่างที่ผิวกายของเราน่ะหรือ มันก็เกิดขึ้นมาโดยพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้าบนสวรรค์  เพราะเราต้องหากินในเวลากลางคืน  เราต้องการแสงสว่างส่องทาง  พระผู้เป็นเจ้าทรงสงสารเรา  จึงสร้างแสงให้ ติดตามร่างกายของเราต้ังแต่เกิดจึงไม่ยากอะไรหรอก  เพียงพระผู้เป็นเจ้าเอาธาตุชนิดหนึ่งมาทาไว้  ครั้นกระทบกับอากาศเข้าก็เรืองแสงออกมาได้เอง"
     "แสงนี้มีประโยชน์ใช้ส่องหนทางเท่าน้้นหรือ?"
     "ยังมีคุณประโยชน์อีกอย่างหนึ่งคือเป็นอาวุธป้องกันตัวเราด้วย"
     "แสงสว่างเป็นอาวุธป้องกันตัวได้อย่างไร?"
     "เมื่อสัตว์บางชนิดเห็นแสงเรืองที่ร่างกายเราก็จะตกตะลึงพรึงเพริดเกิดความแปลกประหลาดอัศจรรย์  ไม่กล้าเข้าใกล้ตัวเรา  เราก็หากินได้โดยปลอดภัย"
     "แต่ตัวเราไม่มีอาวุธเหมือนเจ้า  พระผู้เป็นเจ้าทำไมลำเอียงนักเล่า?"
     เจ้าหิ่งห้อยเพ่งมองไปที่ปีกผีเสื้อแสนสวยด้วยความอัศจรรย์ใจ  เมื่อต้องแสงสว่างเรืองจากหิ่งห้อย ก็ยิ่งแลดูพร้อย งดงามตาเหมือนดังว่าสัตว์จากโลกทิพย์ จึงพูดว่า 
     "ถ้าจะวาพระผู้เป็นเจ้าลำเอียงก็ลำเอียงจริง  เพราะพระเจ้าให้สีสันสวยสดงดงามแก่ร่างกายเจ้า  มองดูแล้วน่าเพลิดเพลินเจริญใจนักหนา   ส่วนเราสิท่านให้มาแต่แสงสว่างนวลพราวอย่างเดียวเท่าน้ัน  ถ้าหาพระผู้เป็นเจ้าสร้างให้เรามีแสงเขียว  แดง เหลือง ดำ ขาว อย่างเจ้าบ้าง  เราจะดีใจเหลือเกิน"
     ส่วนงูเขียวหางไหม้ที่เกาะนิ่งอยู่ที่กิ่งต้นลำพูน้้น  เพ่งมองดูหิ่งห้อยและผีเสื้อแสนสวย ก็นิ่งตะลึงอยู่  จนไม่รู้สึกอยากจะฉกกัดกินทั้งหิ่งห้อยและผีเสื้อแสนสวยน้ันเลย
      นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า  แสงสว่างแพรวพราวและสีอันสดสวย นอกจากประดับโลกให้สวยงามแล้ว  ยังเป็นอาวุธป้องกันตัวเองได้ด้วย  พระเจ้าสร้างสัตว์มาให้เป็นประโยชน์ตนและประโยชน์แก่โลกด้วยเสมอ  เว้นแต่สัตว์ผู้โง่เขลาไม่รู้จักคุณค่าของตัวเองเท่าน้ัน 
๐๐๐๐๐๐๐๐


๒๘. นกยูงรำแพนหาง
     มีพฤกษเทวาองค์หนึ่ง  อาศัยอยู่ที่ต้นไม้ใหญ่ในป่าสูง  วันหนึ่งมีเทวดาองค์ใหม่จุติมาเกิดเป็นพฤกษเทวดา  เทวดาองค์ก่อนจึงพาเทวดาใหม่เดินเที่ยวชมไพร  ก็แลเห็นนกยูงตัวหนึ่งชื่อ โมริยะ  อาศัยอยู่ในป่าสูงด้วยความสุขเกษมสำราญ  ไม่มีสัตว์ร้ายหรือสัตว์มนุษย์รบกวนทำลาย   วันหนึ่งมันเดินเล่นอยู่ตามพื้นหญ้าบนเนินเขา ซึงมีต้นไม้ใหญ่น้อย  งอกงามออกดอกสะพรั่งสวยงามตายิ่งนัก  เจ้านกยูงโมริยะมีความประมาท  จึงเผลอตัวเดินไปมิได้ระมัดระวังภัย  ก็พอดีพบหน้าเจ้าสิงโตร้ายยืนเพ่งจ้องอยู่ไม่วางตา
     เจ้านกยูงโมริยะ  ตกใจหยุดชะงักด้วยสัญชาติญาณป้องกันภัย มันจึงรำแพนหางอันสวยงาม  วิจิตรตระการตาด้วยสีสรรค์อันสวยงามยิงนัก  นอกจากมีสีอันสวยสดงดงามแล้ว ลวดลายรำแพนหางยังประกอบด้วยดอกดวงคล้ายกับดวงตาสวรรค์นับด้วยสิบคู่  ดูระยับเหมือนว่าจ้องจับตาเพ่งมาที่ตาสิงโต  จนสิงโตตะลึงอยู่  สบตานกยูงนับสิบๆคู่ก็มิได้กระพริบหลบตาเลย   เจ้าสิงโตตะลึงอยู่ เจ้าสิงโตไม่เคยกลัวสัตว์ใดๆในพงไพรมาก่อนเลย  กลับมากลัวสายตานกยูงอันเพ่งจ้องมาที่แพนหางน้ัน  มันรู้สึกหวาดหวั่่นขึ่้นมาทันทีว่าสัตว์นี้มีสายตามากคู่นักหนา  เพ่งมองมาหากระพริบไม่  มันจึงเบี่ยงหน้าหนีสายตาหลายสิบคู่น้ัน แล้วค่อยย่องเดินไปอย่างไว้ท่านักเลงเจ้าป่า  ปล่อยให้นกยูงโมริยะนั้น ยืนมองดูมันเดินหนีห่างไกลออกไปทุกทีจนลับไม้ออกไป  เจ้านกยูงโมริยะจึงได้ลดแพนหางลงตามปกติ
     เจ้านกยูงโมริยะก็แปลกใจว่าสิงโตหนีตนด้วยกลัวอะไร 
     เมื่อละครชีวิตสัตว์ป่าฉากนี้จบลงแล้ว 
     เทวดาองค์ก่อนก็ถามเทวดาองค์ใหม่ว่า 
     "ท่านแลเห็นอะไร จากนกยูงและสิงโต"
      เทวดาองค์ใหม่ตอบว่า
     "สัตว์ร้ายเช่นสิงโต ก็ตะลึงต่อความงามของนกยูง"
     "เห็นอะไรอีก"
     "เห็นว่าความงามคือความดีก็ป้องกันภัยได้"
     "เห็นอะไรอีก?"
     "เห็นเท่านี้"
     "ยังมีอีกอย่างหนึ่งที่ท่านมองไม่เห็น"
     "คืออะไร"
     "คือสัตว์ทุกตัวล้วนแต่รักตัวกลัวตายเหมือนกันหมด  ไม่เฉพาะแต่นกยูงที่กลัวตาย สิงโตสัตว์ดุร้ายก็กลัวตายเหมือนกัน"
     นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า  ความงามเป็นอำนาจเป็นสง่าราศีทำให้สัตว์อี่นหลงรักและเกรงกลัว  และสัตว์ทุกตัวย่อมรักตัวกลัวตายเหมือนกันหมด 

๐๐๐๐๐๐๐๐ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น