วันอังคารที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

นิทานธรรมดาโลก (๒๘)


๗๙ แมงมุมชักใย

     แมงมุมตัวหนึ่งมันชักใยติดไว้ที่หน้าต่างบ้าน โดยติดไว้ทางด้านทิศเหนือ ไปติดไว้ทางทิศใต้สี่เส้นขึงไว้  แล้วชักใยเป็นตารางกลมๆได้ตรงกลางเส้นใยถี่ๆหลายเส้น เพื่อขึงดักแมลงที่บินไปมาที่จะติดตาข่ายอยู่ที่ตรงกลางนี้  แล้วมันก็แอบไปนอนนิ่งอยู่ที่ต้นสายใย
     ต่อมาก็มีตัวชีผ้าขาวบินมาหากิน  ผ่านตาข่ายสายใยแมงมุมก็ติดอยู่ดิ้นรนไปมา  ฝ่ายเจ้าแมงมุมเมื่อตาข่ายสั่นไหว  ก็รู้ได้ทันทีว่ามีแมงบินมาติดตาข่ายเข้าแล้ว  จึงวิ่งปราดไปตามเส้นสายใย เข้าไปที่ตาข่ายตรงกลางพบเจ้าชีผ้าขาวติดอยู่ จึงร้องตะคอกว่า  
     "นั่นเจ้าบังอาจล่วงล้ำด่านแดนของเราเข้ามา  เจ้าผิดอย่างฉกรรจ์ เราจะต้องประหารชีวิตเจ้าเสียเดี๋ยวนี้"
    เจ้าชีผ้าขาวร้องตอบว่า
     "ช่องทางนี้เป็นทางบินไปมาของเรา   ท่านมาชักใยขวางทางเราด้วยเหตุใดเล่า?"
    "ช่วงทางนี้เป็นเขตแดนของเรา เราจึงต้ังด่านไว้ในเวลาราตรี เจ้าจะไปไหนในเวลาค่ำคืนเช่นนี้?"
     "เราบินออกหากิน บางทีเราก็บินไปเล่นแสงไฟอันสวยงาม"
     "เจ้าทำผิดมากที่ออกหากินในเวลาค่ำคืน และบินไปเล่นแสงไฟอันมิใช่การงาน   จงยอมให้เราทำโทษประหารชีวิตเสียโดยดี"
     ว่าแล้วแมงมุมก็ตรงเข้ากัดตัวชีผ้าขาว  เอามากินเป็นอาหาร
    
     นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้สัจธรรมว่า  เส้นใยแมงมุมน้ันเปรียบดังอายตนะทั้ง ๖ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อเจ้าชีผ้าขาวมาสัมผัสสายใยแมงมุม เจ้าแมงมุมก็ได้รับรู้และมากินเจ้าชีผ้าขาวเป็นอาหาร   ดังอารมณ์เมื่อมาสัมผัสอายตนะ จิตก็ได้รับรู้และกลืนกินอารมณ์นั้น 

วันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

นิทานธรรมดาโลก (๒๘)


๗๘.งูเขียวกินตับตุ๊กแก
      ตุ๊กแกตัวหนึ่งมันเกาะนิ่งอยู่ที่กิ่งมะขามเทศ  มันสังเกตุเห็นจิ้งจกตัวหนึ่งไต่กิ่งมะขามเทศมาเกาะอยู่ข้างหน้ามัน มันจึงตะครุบจิ้งจกกลืนกินเป็นอาหารแล้วนอนเกาะกิ่งไม้นิ่งอยู่ครู่หนึ่ง  เพื่อรอสัตว์อื่นเผลอตัวเดินเข้ามาเป็นอาหารของมันต่อไปอีก 
     ขณะน้ันมีงูเขียวตัวหนึ่ง เลื้อยมาตามกิ่งมะขามเทศ  มันเห็นตุ๊กแกเกาะกิ่งมะขามเทศนิ่งอยู่  มันจึงเลี้อยปราดเข้ามาโดยเร็ว 
     เมื่อตุ๊กแกแลเห็นงูเขียวเลี้อยตรงเข้าเช่นน้้น มันก็รู้โดยปัญญาญาณของมันทันทีว่าภัยกำลังมาถึงตัวแล้ว  มันรู้ตัวดีว่างูเขียวจะต้องตวัดรัดตัวมัน แล้วกลืนหัวมันเป็นอาหารเหมือนที่มันกลืนจิ้งจกเมื่อตะกี้นี้  มันจึงอ้าปากของมันออกให้กว้างที่สุด จนงูเขียวกลืนหัวของมันไม่ได้ มันไม่มีวิธีอื่นจะป้องกันตัวมันได้ดีกว่านี้
     ฝ่ายเจ้างูเขียวเมื่อไม่สามารถจะอ้าปากให้กว้างเพื่อกลืนหัวตุ๊กแกได้ เพราะตุ๊กแกอ้าปากกว้างไว้ก่อนแล้ว มันจึงเอาหัวเข้าไปในคอตุ๊กแกค้นดูอาหารในท้องตุ๊กแก  เมื่อเจอจิ้งจกในท้องตุ๊กแกแล้ว งูเขียวก็กลืนจิ้งจกในท้องตุ๊กแกเป็นอาหารของมัน แล้วจึงค่อยถอนหัวออกจากปากและท้องตุุ๊กแกเลี้อยต่อไปยังกิ่งไม้อื่น ส่วนตุ๊กแกยังอ้าปากค้างอยู่ครู่่หนึ่ง  เมือปลอดภัยด้วยงูเขียวเลี้อยห่างออกไปแล้ว  มันจึงค่อยหุบปากลงด้วยความเสียดายอาหารที่งูเขียวมาล้วงไปกินเสีย 
     เด็กสองคนที่ยืนอยู่ข้างต้นมะขามเทศจึงพูดกันว่า "งูเขียวล้วงคอกินตับตุ๊กแก"  ตุ๊กแกไ้ด้ฟังก็ร้องขึ้นว่า 
     "โกหก โกหก มันกินจิ้งจกในหัวอกของเราต่างหาก" 
     นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า  ไม่มีใครรู้เรื่องของเราเท่าตัวเราเอง ใครเขาจะนินทาว่าอย่างไรก็ช่างเขาเถิด
     คนช่างนินทามีอยู่ ๓ ประเภท 
     ๑.คนรู้จริง
     ๒.คนรู้ไม่จริง
     ๓. คนรู้จริงบ้างไม่จริงบ้าง 
     คนโบราณจึงเรียกคนนินทาว่าร้ายว่า "ตรีชา"  แปลว่า "รู้สามอย่าง"