๑๙. รถยนต์เพื่อนรัก
โรงงานประกอบรถยนต์แห่งหนึ่ง ประกอบตัวถังรถยนต์ออกมาจำหน่ายวันหนึ่งหลายสิบคัน วันนั้นมีรถยนต์ประกอบเป็นรถยนต์สำเร็จรูปแล้วแล่นออกจากโรงงานไปเข้าโรงจำหน่าย เหมือนคนเกิดใหม่ เป็นแบบโอปปติกชาติ คือ เกิดแล้วก็เติบโตทันทีทันใด เป็นร่างกายอันสมบูรณ์จำนวนหลายสิบคัน แต่มีอยู่ ๒ คัน ที่คนขับแล่นตามกันมา คันหนึ่งสีฟ้า คันหนึ่งสีน้ำเงิน รถ ๒ คันนี้เกิดมาพร้อมกัน ออกมาจากโรงงานผลิตพร้อมกัน มาจอดอยู่ในโรงงานจำหน่ายด้วยกันและจอดอยู่ชิดๆกัน จึงรักกันมากทั้งคืนทั้งวันก็สนทนากันตามประสาคนรักกัน สัญญาว่าจะรักกันจนวันตายไปไหนก็จะไปอยู่ด้วยกัน
แต่แล้วอยู่มาวันหนึ่งก็มีเหตุเจ้ารถสีฟ้า รถสีน้ำเงินจะต้องพรากจากกันด้วยมีคนมาขอซื้อ รถยนต์สีฟ้าและรถยนต์สีน้ำเงินพร้อมๆกัน แล้วก็จัดแจงขับแยกทางกลับไปคนละทิศละทาง รถทั้งสองรักใคร่กันมาก จึงเศร้าโศกเสียใจอาลัยรักกันนักหนา ต่างคันต่างร้องไห้คร่ำครวญไปตลอดทาง
รถสีฟ้าร้องสั่งว่า "เราจากกันแต่กายนะ ส่วนหัวใจเราส่งถึงกันเสมอ ถึงจะอยู่ไกลกันสุดขอบฟ้า เราก็จะไม่ลืมกันเลย"
รถสีน้ำเงินร้องว่า "ถ้ามีโชคเราคงจะได้พบกันอีก ตายแล้ววิญญาณเราก็จะไปอยู่ร่วมกันอีก"
แล้วต่างก็จากกันไปอยู่คนละเมือง คันหนึ่งไปอยู่เมืองเหนือ คันหนึ่งไปอยู่เมืองใต้
อยู่ต่อมาสัก ๕ ปี รถทั้งสองคันนี้ก็เผอิญมาพบกัน ณ ท้องถนนแห่งหนึ่ง เห็นกันแล้วต่างคันต่างก็ตกตะลึง ไม่คิดว่าจะได้เห็นกันโดยมิได้คาดฝัน จึงวิ่งเข้าหากันผวาเข้ามาจูบกัน อยู่ตรงถนนนั้นด้วยความรัก ทำให้คนโดยสารในรถนั้นต่างฝ่ายต่างบาดเจ็บล้มตายไป แล้วรถสองคันนั้นก็ถูกแยกไปคนละทาง จอดอยู่ห่างกัน แต่ไม่มีปัญญาจะสนทนากันเสียแล้ว เพราะร่างกายแตกหักยับเยินด้วยกันทั้งคู่
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ความรักทำให้เกิดความอาลัย เมื่อต้องพลัดพรากจากกันและความรักทำให้บาดเจ็บล้มตายได้ ถ้าไมยับยั้งสติอารมณ์ไว้ให้ดี
๐๐๐๐๐๐๐๐
๒๐.เสียงคุยของคนขอทาน
ณ ศาลาหน้าวัดแห่งหนึ่ง เป็นที่นอนพักของคนขอทานกลุ่มหนึ่ง ซึ่งยึดเอาเป็นที่พำนักพักนอน ตกเย็นก็มารวมกัน นั่งมั่งนอนมั่ง คุยกันตามประสาคนขอทาน
คนหนึ่งคุยว่า "เวลานี้ข้ารู้สึกดินฟ้ามหาสุมทรแล้ว อันมนุษย์เรานี่ อ้ายตีนที่สวมถุงน่องรองเท้าเดิน กั็บๆ เหมือนม้าเดินมานี่ละก็อย่าไปขอมันเลย ไม่ให้หรอก แต่คนที่เดินตีนเปล่าตีนใหญ่ๆ หนาๆ ใส่รองเท้ายางเดินมา ยื่นมือออกไปได้ทุกทีแหละ บาทหนึ่ง สองสลึง สลึงหนึ่ง ไม่ผิดหวังหรอก ข้าดูตีนคนออกถึงหัวใจคนเลย"
คนที่สองพูดว่า "ฉันก็รู้จิตใจคนว่า ผู้หญิงนี่ มีใจบุญกว่าผู้ชาย ถ้าเห็นนุ่งผ้าถุงหรือกระโปรงเดินมา ยื่นมือออกไปไม่ค่อยผิดหวัง ถ้าเห็นนุ่งกางเกงเดินมาไม่ค่อยจะทำบุญทำทาน พวกผู้ชายทำทานน้อยกว่าผู้หญิง"
คนที่สามพูดว่า "แต่ข้าดูอายุคน อายุเด็กๆ รุ่นๆ หนุ่มๆ สาวๆ ไม่ค่อยทำทาน แต่คนอายุมากๆ ชอบทำบุญทำทาน ถ้าเห็นคนรุ่นหนุ่มสาวเดินมา ฉันไม่ยื่นมือหรอก คนมีอายุนี่ ฉันยื่นมือออกไปไม่ค่อยผิดหวัง"
คนที่สี่พูดว่า "ฉันสังเกตุตาเขาแฮะ คนที่เดินมา ถ้าตามองต่ำๆ มองพื้น มองผู้มองคนละก็ ยื่นมือออกไปไม่ผิดหวัง แต่อ้ายพวกที่เดินดูแต่สินค้าไม่มองคน แหงนมองโน่นนี่มองร้านมองรวง พวกนี้ไม่ทำทาน"
คนที่ห้าพูดว่า "ข้าดูผิวพรรณคนออก คนดำคล้ำหน่อย หน้าตาเป็นคนไทย คนลาวเขามักจะทำทาน แต่อ้ายจำพวกหน้าขาวๆ ไม่ว่าหนุ่มหรือแก่ ไม่ค่อยทำทาน พวกฝรั่งตัวแดงๆ อย่าไปขอมันเลยเชียว"
คนที่หกพูดว่า "ฉันว่าคนจน ทำทานมากกว่าคนมีนะ คนจนก็เห็นใจคนจน สงสารคนจนด้วยกัน เขาคงภาวนาในใจว่า "เกิดชาติใดภพใดอย่าให้ต้องยากจนต้องขอทานเขากินเหมือนพวกเขา"
นิทานเรื่องนี้สอนว่า คนรู้จักสังเกตุ ก็ค่อยได้รับความรู้ความคิด ต่างๆกัน เพราะคนย่อมมองโลกมองชีวิตในแง่มุมที่แตกต่างจากเรา เขาจึงเห็นอะไรที่ผิดแผกแตกต่างจากเรา แต่เขาก็มองไม่ผิดไปจนห่างไกลความจริงเลย
๐๐๐๐๐๐๐๐
๒๒. นางแต้มใจแตก
นางแต้มเป็นหมาบ้านนายจ้อย ซึ่งเป็นกระท่อมหลังน้อยๆ นายจ้อยไปขอเขามาเลี้ยงไว้ตั้งแต่ตัวเล็กๆ พึ่งอดนม เพื่อเอามาให้เด็กหญิงจิ๋ม ลูกสาวอุ้มเล่น เด็กหญิงจิ๋มรักนางแต้มมาก อุ้มไปอุ้มมาอยู่จนโต ครั้นนางแต้มโตเป็นสาวอายุได้ ๑ ขวบ ก็ริออกมานอกบ้านมาเสวนากับหมาบ้านลุงใหญ่ ซึ่งมีฐานะดีมีบ้านเป็นตึก มีกำแพงล้อม เมื่อนางแต้มมาบ้านลุงใหญ่ แล้วก็สนใจที่มีเพื่อนหมาและมีอาหารดีๆ กินด้วย จึงไม่ยอมกลับบ้านนายจ้อยหลังน้อย ถึงนายจ้อยจะมาอุ้มไปก็หนีกลับมาบ้านลุงใหญ่อีก จนเด็กหญิงจิ๋มเกิดความน้อยใจ วันหนึ่งก็พูดกับนางแต้มว่า "แต้มเอ๋ย บ้านเรามันจนนะ บ้านก็เล็กอาหารก็น้อย เอ็งไปอยู่บ้านลุงใหญ่ บ้านใหญ่ อาหารเยอะ เอ็งก็ลืมบ้านเก่า เอาเถอะ เอ็งสบายแล้ว ไม่ต้องกลับมาอีกหรอก ข้าตัดใจได้แล้ว เอ็งไม่รักข้า ข้าก็ไม่รักเอ็ง"
นายจ้อยได้ยินลูกสาวพูดกับหมาดังนี้แล้ว ก็น้ำตาคลอตา คิดไปต่างๆนานา ว่าอย่าว่าแต่คนเลย หมามันก็แสวงหาความสุขใส่ตัวมันหเหมือนกัน โบราณท่านพูดว่า "น้ำไหนวัง น้ำไหนเย็น ตะเข้ตะโขงก็ไปอยู่ น้ำไหนร้อนปลาช่อนปลาชะโดก็หนีไม่ยอมอยู่"
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า มนุษย์และสัตว์ ล้วนแต่แสวงหาความสุขด้วยอาหาร ทีอยู่และเพื่อนฝูงเหมือนกันทั้งสิ้น อย่าไปว่าใครเลย
๐๐๐๐๐๐๐๐
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น