วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

นิทานธรรมดาโลก (๑๐)


๒๙. แม่กาเหว่าไข่ให้แม่กาฟัก


     กาเหว่าคู่หนึ่ง  มันทำรังอยู่บนกิ่งไม้  มันมีเพื่อนบ้านเป็นแม่กาคู่หนึ่ง  ทำรังอยู่ไม่ไกลนัก  เมื่อแม่กาเหว่าออกไข่ไว้ในรังแล้ว  มันออกไปหากินทีไร กาเพื่อนบ้านของมันก็จะมาลักเอาไข่ไปกิน  อยู่เสมอมา  เมื่อกาเหว่าถามว่า เห็นไข่ของมันบ้างไหม  กาก็ตอบอย่างยิ้มแย้ม ลอยหน้าลอยตาว่า
     "เปล่า เปล่า เราไม่เห็น  เราไม่ได้ขโมย"
     วันหลังต่อมา  เมื่อแม่กาเหว่าออกไข่  มันจึงต้องให้กาเหว่าตัวผู้เฝ้ารังไว้แล้วออกไปหากิน เมื่อกาเหว่าตัวผู้กลับมาจากป่า  แม่กาเหว่าจึงออกไปหากิน ต้องผลัดเฝ้าไข่อยู่เสมอมา
     วันหนึ่งกาเหว่าผัวเมียก็ปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรดี   จึงจะแก้ไขให้ไข่ของเราปลอดภัยจากกาใจร้ายได้
     ในที่สุดมันก็คิดอุบายได้  คือต้องเอาหนามบ่งหนาม  โดยวิธีการอันแนบเนียน  รอเมื่อแม่กาออกไปหากินแล้ว ก็ไปออกไข่เพิ่มไว้ในรังของแม่กา แม่กาก็ลืมไปว่าในรังนั้น มันไข่ไว้กี่ฟอง หลงว่าไข่ของตัวเอง   จึงฟักไข่ของกาเหว่าจนออกเป็นนกกาเหว่า ขนของกาเหว่าก็มีสีดำเหมือนลูกกา   แม่กาจึงบินไปหาเหยื่อคาบมาป้อนลูกกาเหว่าจนเติบโต
     เมื่อลูกกาเหว่าเติบโตเต็มที่ ออกสอนบินได้ก็บินไปจากรัง  แม่ พ่อของกาเหว่าก็มาร้องเรียกลูกนกกาเหว่า  บอกให้รู้ว่ามันเป็นกาเหว่า หาใช่กาไม่  ขอให้ไปอยู่ด้วยกันในพวกนกกาเหว่าเถิด  ลูกนกกาเหว่าจึงบินไปอยู่กับพ่อแม่กาเหว่าต่อไป  แม่กาจะเรียกเท่าไรก็ไม่ยอมกลับมาอยู่ด้วย ทิ้งให้แม่กาอยู่กับฝูงกา ส่วนลูกกาเหว่าก็บินไปเข้าฝูงนกกาเหว่าต่อไป  ตามพงศ์พันธ์ุของมันด้วยความเป็นสุข 
     นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า  กาดำย่อมอยู่อย่างกาดำ แต่กาเหว่าย่อมมีนิสัยจิตใจเป็นกาเหว่า  มันย่อมจะไปอยู่กับนกกาเหว่า ไม่ยินดีอยู่กับกา  เหมือนธรรดาคนดีย่อมไม่ยินดีอยู่ในหมู่คนชั่วฉันใดก็ฉันนั้น 
๐๐๐๐๐๐๐๐

๓๐ คนขี่ม้าพยศ

     นายบุญกับนายเดช  เป็นเพื่อนกัน  บ้านนายบุญเลี้ยงวัวไว้ฝูงใหญ่  แต่บ้านนายเดชเลี้ยงม้าไว้คอกหนึ่ง นายเดชคุ้นเคยกับม้ามาตั้งแต่เกิด  จึงขี่ม้าเก่ง  ขึ้นขี่หลังม้าตัวใดก็ยอมให้ขี่โดยดี  จะให้วิ่งเหยาะ  วิ่งสบัดหาง วิ่งเร็ว หรือห้ออย่างไรก็ย่อมได้  ม้าย่อมรู้ใจและตามใจทุกอย่าง 
     เมื่อนายบุญไปบ้านนายเดช อยากขี่ม้าบ้าง  แต่เมื่อนายบุญขึ้นหลังม้าลองขี่ดูบ้าง  ม้าก็กลับพยศ ไม่ยอมให้ขี่ง่ายๆ ทำพยศต่างๆ  ให้นายบุญตกหลังม้าบ่อยๆ   จึงถามนายเดชว่าเหตุใดม้าจึงไม่ยอมให้คนขี่ง่ายๆเหมือนนายเดช
     นายเดชตอบว่า ม้าก็มีหัวใจ  มันรู้ได้ดีว่าคนไหนรักมันหรือไม่  พอมันได้กลิ่น มันเห็นหน้า มันก็รู้ได้ด้วยสัญชาติญาณของมันทันที  ยิ่งพอโดดขึ้นขี่หลัง  ม้ามันก็รู้ได้ทันทีว่าคนขี่นี้เป็นนายของมันหรือไม่  ขี่หลังมันเป็นหรือไม่   ถ้ารู้ว่าไม่ใช่นายมัน มันก็ไม่ค่อยยอมให้ขี่  หรือถ้ารู้โดยท่าทีว่าขี่ม้าไม่เป็น มันก็จะพยศ สลัดให้ตกหลังทันที  ข้อสำคัญมันรู้ว่าใครรักมัน  มันก็จะยอมให้ขี่โดยดี  คนที่ไม่เคยอยู่กับม้าย่อมจะไม่รู้ใจม้า  ม้ามันก็รู้  มันจึงไม่ยอมให้ขี่ ถ้าจะขี่ม้าก็ต้องอยู่กับคอกม้า ต้องเอาใจใส่ให้ข้าว น้ำ อาบน้ำแปรงขนให้มันให้มันชิน มันรู้ว่ารักมันก็จะยอมให้ขึ่โดยดี
     นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า  เป็นนายต้องเอาใจใส่ลูกน้อง ต้องรักลูกน้อง ถ้านายไม่รักลูกน้อง  ลูกน้องก็จะไม่เต็มใจให้บังคับบัญชา ท่านจึงว่าคนจะขึ่ม้าพยศได้ต้องรู้ใจม้า  และต้องรักม้าด้วย  จะบังคับบัญชาลูกน้องได้ดี  ต้องรักและเลี้ยงดูลูกน้อง เหมือนน้องหรือลูกของเรา โบราณจึงเรียกผู้น้อยว่า ลูกน้อง  
๐๐๐๐๐๐๐๐

๓๑ หมาดำกับหมาขาว
     
     หมาดำตัวหนึ่งเป็นหมาบ้านนอก  ติดตามเจ้าของเข้าไปในเมือง พบกับหมาขาวตัวหนึ่ง  หมาขาวจึงร้องทักว่า
     "ไง ดำเจ้าไปไหนหลงมาถึงนี่?"
      "ข้าตามเจ้านายเข้ามาเที่ยวดูบ้านดูเมืองมั่ง"
     "สบายดีหรืออยู่บ้านนอก?"
     "ก็พออยู่พอกินไปวันๆหนึ่ง  แต่ต้องคอยระวังพวกเจ๊กแคะกับพวกญวน"
     "ระวังเรื่องอะไร?"
     "เจ๊กแคะ นี่มันชอบกินหมาดำ  เวลาหน้าหนาวต้องคอยระวังเจ๊กแคะ แต่ต้องระวังพวกญวน  ตลอดทุกฤดูทั้งหน้าหนาว หน้าฝน หน้าแล้ง ทีเดียแหละ"
    "ทำไมล่ะ"
     "มันคอยจับหมาเอาไปแกงกินอยู่เสมอ"
     "แหม อ้ายชาติญวนนี่แย่จริงๆ  มันคงอดอาหารยิ่งกว่าพวกเรา"
     "เอ็งล่ะ  อยู่ในเมืองนี่น่าสุขสบายดีนะ  เอ็งโชคดีได้อยู่ในเมือง"
     "จะว่าดีก็ดีหรอก  อาหารการกินพอหาได้คล่อง  แต่ต้องระวังตัวอยู่  ๒ อย่าง"
     "ระวังอะไรมั่งล่ะ?"
     "ระวังรถยนต์มันจะทับเอาตายอย่างหนี่งละ"
     "ระวังอะไรอีก?"
     "ระวังพวกเทศบาลมันวางยาเบื่อฆ่า  บางทีมันก็ยิงด้วยปืนเงียบ เผลอไม่ได้"
     "แหม เอ็งอยู่ในเมืองนี่ก็มีภัยสองอย่างเหมือนหมาบ้านนอกอย่างข้าเหมือนกัน"
     นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า อยู่บ้านนอกหรืออยู่ในเมืองก็มีภัยอันตรายเหมือนกัน  ชีวิตคนชีวิตหมาก็มีทุกข์ภัยพอๆกัน 
๐๐๐๐๐๐๐๐
(โปรดติดตามตอนต่อไป) 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น