วันศุกร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2558

นิทานธรรมดาโลก (๑)



๑.ต้นขนุนกับต้นลำไย

ต้นขนุนแก่ต้นหนึ่งกับต้นลำไยอายุมากต้นหนึ่ง เป็นสหายอันสนิทสนมกันมานานปี  มันขึ้นคู่เคียงกันอยู่ริมคลองแห่งหนึ่ง กิ่งของมันยื่นไปปะกิ่งกันเหมือนมันยื่นมือไปจับไหล่ของกันและกันไว้  บางคราเมื่อลมโยก กิ่งของมันโน้มเข้าหากัน เหมือนมันเอื้อมแขนไปกอดคอกันไว้  มันจึงรักใคร่กันมาก เพราะมันมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน อยู่ใกล้ชิดกัน ยืนรับสายลม แสงแดดและสายฝนมาด้วยกันเป็นเวลานานปี  ทั้งขนุนและลำไยมันต่างมีลูกกันมานานปีแล้วปีเล่าทุกปีจนเป็นของเคยชิน ไม่มีใครสนใจลูกของใคร  เพราะว่าเมื่อมีลูกออกมาแล้ว ก็ไม่เหลือติดต้น เจ้าของสวนมาเอาไปหมดสิ้น
แต่ปีนี้เจ้าขนุนและลำไยออกลูกพร้อมกัน  เจ้าลำไยนั้นเมื่อลูกมันออกเต็มต้น มันก็หนักเต็มที่จนกิ่งค้อม พอเจ้าของสวนมาหักกิ่งไปหมดก็ค่อยเบาลง แต่ก็ยังไม่หายชอกช้ำดี  เมื่อค่อยสบายขึ้นจึงเพ่งมองไปที่เจ้าขนุน เห็นยังมีลูกห้อยอยู่ที่โคนต้น ยังไม่ถูกเจ้าของสวนปลิดเอาไป จึงร้องทักเจ้าขนุนเป็นเชิงสัพยอกว่า
“ต้นไม้อะไรพรรค์นี้ ออกลูกที่โคน เพื่อนเขาออกลูกที่ปลายกันทั้งแผ่นดิน...” เจ้าลำใยพูดแล้วหัวเราะ เพ่งมองลูกขนุนอมยิ้มอยู่
“จำเอาไว้เถิดเจ้าลำไยเอ๋ย” เจ้าขนุนตอบ
“โบราณท่านว่าเอาไว้นานแล้วว่า ลูกส่งลูกหนุนอยู่โคน ลูกหักลูกโค่นอยู่ปลาย...”
เจ้าลำไยได้ฟังยังไม่เข้าใจ จึงถามว่า “ลูกส่งลูกหนุนอยู่โคน ลูกหักลูกโค่นอยู่ปลาย นั้นหมายความว่าอย่างไร”
“อ้าว นี่ท่านแก่เสียเปล่า ไม่เคยสังเกตสภาพความจริงของโลกบ้างเลยหรือ?” เจ้าขนุนขู่เอา
“ลูกส่งลูกหนุน คือ ลูกที่ดีที่คอยช่วยส่งช่วยหนุนให้พ่อแม่มีกำลังย่อมอยู่ที่โคน  ลูกอยู่ที่โคนนั้นช่วยให้พ่อแม่มันมีกำลังแข็งแรงดี ไม่มีอันตราย  ลูกอยู่ที่โคนนั้นเป็นลูกสร้าง  ส่วนลูกที่อยู่ปลายนั้นเป็นลูกทำลาย ทำให้พ่อแม่ของมันต้องหักโค่นเพราะลูก
ท่านมีลูกทีไรก็ถูกเขาหักกิ่งหักยอดอยู่เสมอ ยอดที่อยู่สูงนั้นเขาก็ฟันกิ่งโค่นลงมาเพื่อเอาลูก นี่แหละคือลูกหักลูกโค่นอยู่ปลาย  ส่วนเรานั้นลูกอยู่ที่โคน ไม่เคยถูกหักโค่นเพราะลูกเลย...”
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า  อายุไม่ทำให้มีปัญญา แต่ความสังเกตพิจารณาทำให้มีปัญญาเห็นจริงตามสภาวะของโลก.

.........................



๒.ต้นไม้กินคน

เมื่อมนุษย์คนหนึ่งไปหักร้างถางพง ปลูกบ้านลงอยู่ที่ชายป่าแห่งหนึ่งเสร็จเรียบร้อยแล้ว เขาก็พูดกับภรรยาว่า
“ต้นไม้น่ะ ต่อให้โตเท่าโต มากเท่ามาก ก็ไม่มีวันเอาชนะมนุษย์ได้หรอก  เพราะมนุษย์มีปัญญา มีความเพียร ย่อมหักร้างถางป่า ทำนา ทำไร ทำเรือกสวน ทำบ้านทำเมืองได้ทั้งนั้น”
ภรรยาได้ฟังจึงพูดเสริมให้กำลังใจแก่สามีว่า
“จริงซี เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ อย่าว่าแต่ต้นไม้เลย แม้แต่สัตว์ เช่น เสือ หรือช้าง มนุษย์ก็เอาชนะได้จนหมดสิ้น”
สามีกล่าวต่อไปว่า
“โลกนี้เป็นโลกของมนุษย์แท้ๆ  ส่วนสัตว์และพืชนั้น พระพรหมท่านสร้างไว้ประดับโลก และเพื่อเป็นเครื่องอุปโภคบริโภคของมนุษย์”
ในขณะที่สองสามีภรรยากำลังสนทนากันนั้น  ฝ่ายเจ้างู ยุง มาเลเรีย พยาธิ หญ้า และต้นไม้ก็นิ่งฟังอยู่  พอสองสามีภรรยาพูดจบ เขาก็พูดกันบ้าง ดังนี้
งู “มีแรง มีปัญญาทำไปเถอะ อย่ามาเหยียบหัวเราเข้าก็แล้วกัน เหยียบเมื่อไร เราจะไม่ไว้ชีวิตเจ้า”
ยุง “ทำมาหากินให้เลือดมากๆ ไว้เถอะ เราจะได้ขอดื่มกินบ้าง”
มาเลเรีย “เราก็จะได้ไปอยู่ในสายเลือดเจ้ามนุษย์ฉลาดนั้นด้วย”
พยาธิ “เราก็คอยหาโอกาสอยู่ว่า จะเข้าไปอยู่ในท้องเจ้าเหมือนกัน จะกินอาหารให้สบาย”
ต้นไม้ “ดีละ เขาตายเมื่อไร ฝังไว้แถวนี้เราจะได้ดูดกินศพของเขาเป็นปุ๋ยอันโอชะของเรา”
หญ้า “ถ้าบ้านเรือนเขาร้าง เราก็จะได้ไปขึ้นใต้ถุนเรือนแทนที่เขาตามสบายเหมือนอย่างเดิม จะไม่มีใครมาข่มเหงรังแกเราอีก”
งู “ที่จริงโลกนี้เป็นโลกของพวกเราแท้ๆ นะ  แต่ไอ้เจ้ามนุษย์นี่แหละ มันเป็นเชื้อโรคยักษ์ที่มารุกรานทำลายพวกเราอยู่ทุกวันนี้”
ต้นไม้ “อย่าวิตกไปเลยพวกเรา  ระหว่างมนุษย์ สัตว์ และพืช จะต้องต่อสู้กันไปจนโลกสลายน่ะแหละ ไม่มีใครชนะใครเด็ดขาดหรอก”
หญ้า “ใช่ รบกันมาตั้งแต่สร้างโลก จนทุกวันนี้ ก็ยังไม่มีใครชนะใครเด็ดขาด จนบางครั้งเราก็เซ็นสัญญาสงบศึกปรองดองกันนะ”
งู “ปรองดองกันยังไง?”
หญ้า “อ้าว ก็ไม่เห็นหรือ เวลานี้มนุษย์เอาพวกเราไปปลูกไปเลี้ยงไว้ในบ้านเมืองมากแล้วนะ ถึงท่านงูก็เถอะ ได้ข่าวแว่วๆ ว่าเข้าไปอยู่ในสถานเสาวภาเยอะแล้วนี่ ที่เขาดินก็มีเยอะ”
ต้นไม้ “ถูกแล้ว ที่มนุษย์คุยว่า พืชและสัตว์เป็นเครื่องอุปโภคบริโภคของมนุษย์น่ะ เราว่ามนุษย์เป็นเครื่องอุปโภคบริโภคของพืชเรามากกว่า  เกิดสงครามฆ่าฟันกันเมื่อไร รู้สึกว่าพวกพืชเราก็งอกงามดีทุกที เพราะไม่ถูกเขารังแกอย่างหนึ่ง ได้ดูดกินศพเขาเป็นอาหารอย่างหนึ่ง
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า อย่าคิดว่าเราถูกแต่ฝ่ายเดียว ฝ่ายอื่นเขาก็อาจถูกเหมือนกัน  ต้องใจกว้างรับฟังความคิดเห็นของฝ่ายอื่น เอาใจเราไปใส่ใจเขาดูบ้าง.

......................




๓.มะพลับกับตะโก

มะพลับกับตะโกเป็นพี่น้องใกล้ชิดกัน แต่ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างกิน ไม่ค่อยได้พบปะกัน  ใครเห็นเข้าก็มักจะจำผิดทักผิดกันเสมอ เพราะรูปร่างหน้าตาเหมือนกันมาก ลำต้นก็สีดำเหมือนกัน ใบก็สีเขียวคล้ำเหมือนกัน รูปร่างของใบก็คล้ายกัน มีขนาดใกล้เคียงกันด้วย  ทั้งต้นทั้งใบของมะพลับกับตะโกจึงเกือบไม่ผิดเพี้ยนกันเลย
แต่เวลามะพลับกับตะโกมีลูกนั้นต่างกันมาก  เวลามะพลับมีลูก นกกาก็มาเกาะกันเต็มต้น มะพลับจึงมีดีอยู่ที่ลูก ทำให้นกกาในป่าไปมาหาสู่กันมาก มะพลับมีชื่อเสียงดี มีคนรู้จักยกย่องก็เพราะมีลูกดี  ส่วนตะโกนั้นเวลามีลูกก็หามีนกกามาเกาะไม่ เพราะรสชาติฝาดเฝื่อนกินไม่ลง ไม่มีใครรู้จักยกย่อง  
คราวหนึ่งมะพลับกับตะโกซึ่งอยู่เคียงกันจึงได้สนทนากัน
ตะโก “เวลาท่านมีลูก นกกาทั้งป่าก็ไปมาหาท่าน  ส่วนเรานั้นเวลามีลูกไม่เห็นมีใครรู้จักเหลียวแล”
มะพลับ “ต้นไม้ในป่าเรานี้ ไม่ใช่ได้ดีเพราะตัวของตัวเองหรอก ได้ดีมีสุขเพราะลูกทั้งนั้น  ที่นกในป่ารู้จักเราก็เพราะลูกเรามีรสหวาน จึงพากันมาติดตอมเรา  ส่วนท่านนั้นมีลูกมีรสเฝื่อนฝาด นกกาจึงไม่พอใจมาไต่ตอม”
ตะโก “ท่านช่างมีบุญวาสนา เพราะมีลูกดี  ส่วนเราไม่มีบุญวาสนาเพราะมีลูกชั่ว”
มะพลับ “เราก็มีลูกดีแต่พอสถานประมาณเท่านั้นดอก ที่รู้จักยกย่องเราก็มีแต่นกกา  ส่วนต้นไม้ที่มีลูกดีเลิศ ถึงแต่เดิมจะเกิดอยู่ในป่าเหมือนเรา ต้องหากินเองตามยถากรรม  บัดนี้เขาเข้าไปอยู่ในสวนหมดแล้ว มีมนุษย์บำรุงรักษาเขาอย่างดี  เพราะเขามีลูกดีเลิศ รสหวานสนิท เช่น ขนุน มะม่วง  แต่ก่อนเป็นต้นไม้เกิดในป่าเช่นเดียวกับเรา เดี๋ยวนี้เขาได้ดีมีความสุขหมดแล้ว เพราะเขามีลูกดี”
ตะโก “เข้าใจละ ต้นไม้ที่มีลูกชั่วอย่างเราก็หามีใครรู้จักไม่  ส่วนต้นไม้ที่มีลูกดีเสมอท่าน นกกาก็พากันมาตอม รู้จักชมเชยท่าน  แต่ต้นไม้ที่มีลูกดีเลิศนั้น มนุษย์รับเอาไปปลูกบำรุงรักษาไว้ในสวนอย่างมีความสุข ต้นไม้ได้ดีเพราะลูกแท้ๆ”
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า บุตรมี ๓ ชั้น ชั้นต่ำเรียกว่า อวชาตบุตร ไม่ช่วยบิดามารดา ชั้นกลางเรียกว่า อนุชาตบุตร ช่วยบิดามารดาพอประมาณ ชั้นสูงเรียกว่าอภิชาตบุตร ช่วยบิดามารดาให้มีความสุข ... ดูต้นไม้ให้ดูผล ดูคนให้ดูลูก”

.......................