วันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2558

นิทานธรรดาโลก (๑๕)



๔๔ งูงอดกับกิ้งกือ

     คร้ังหนึ่งงูงอดกับกิ้งกือได้เดินทางมาพบกันเข้าอย่างจังหน้าโดยบังเอิญ  งูงอดตัวเล็กๆลายๆเป็นจุดขาวๆ กับกิ้งกือตัวแดงเข้ม   มีตีนถึงร้อยพันตีน ต่างก็เพ่งมองความแปลกประหลาดในรูปร่างของอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งแตกต่างกันมาก 
     ฝ่ายงูงอด  เพ่งมองจนทั่วตลอดหัวตลอดหางกิ้งกือแล้วก็ร้องถามว่า "ท่านมีตืนตั้งพันตีนเช่นนี้ เหตุไฉนจึงเดินช้านักเล่า ?"
     กิ้งกือตอบว่า "เราไม่ต้องรีบร้อนไปไหน อาหารของเราก็อยู่ตามพื้นดิน เราไม่ต้องรีบร้อนฉกฉวยหากินแก่งแย่งกับสัตว์ใด  อีกประการหนึ่งเล่า เราก็ไม่มีเวรมีภัยกับสัตว์น้อยใหญ่อื่นใด เราจึงไม่ต้องมีตีนอันว่องไวไว้สำหรับหนีหรือไล่สัตว์อื่น 
     แล้วกิ้งกือก็ถามงูงอดว่า
     "ท่านมีรูปร่างอันอัปลักษณ์แท้ๆ  ตืนมือก็ไม่มี ท่านจะเดินทางได้อย่างไร ท่านจะเอาอะไร จับอาหารกินได้เล่า ?"
     งูงอดตอบว่า 
     "เราไม่ต้องมีตืนมีเท้าให้รุงรังเกะกะเลย  เพราะเราสามารถเดินทางได้ด้วยพลังกาย พลังใจภายใน เรานึกจะไปโดยเร็วหรือช้า เราก็พุ่งตัวไปข้างหน้า หักซ้าย หักขวา  ไปด้วยกำลังลำตัวของเรา เราสามารถเดินทางได้อย่างรวดเร็วแม้ต้นไม้เราก็ขึ้นได้โดยง่าย  เราจะขึ้นต้นไม้ให้ท่านดูเดี๋ยวนี้ก็ได้"
     แล้วงูงอดก็ย้อนถามกิ้งกือว่า 
     "เวลาท่านพบศัตรู ที่จะแกล้งทำร้ายท่านเล่า ท่านจะต่อสู้ศัตรูอย่างไร?  ตืนของท่านมีมาก แต่ก็มีขนาดเล็กเหลือเกินนัก ?"
     "เราไม่ต้องต่อสู้อะไรเลย  เราเพียงแต่ม้วนตัวกลมๆ เข้าทำอาการเหมือนว่าตายแล้ว สัตว์อื่นก็เลยไม่สนใจเราอีก  เราจึงปลอดภัยเพราะการยอมแพ้ยอมตายเสียก่อน  ชีวิตของเราจึงปลอดภัยตลอดมา  ไม่มีสัตว์ใดทำลายเราโดยจงใจ นอกจากสัตว์โตๆ เผลอเหยียบเราเข้าโดยไม่จงใจเท่านั้น แต่ก็มีน้อยเหลือเกิน"
     แล้วกิ้งกือก็ย้อนถามงูงอดบ้างว่า
     "เวลาพบศัตรูท่านต่อสู้เอาตัวรอดได้อย่างไร  ไม่มีมือตีนจะต่อสู้เลย?"
     งูยิ้มอย่างน่าเกลียดแล้วตอบว่า 
     "เราก็ฉกกัดทันที เขี้ยวเรานี้ย่อมมีพิษร้ายอยู่  เมื่อเรากัดแล้ว พิษร้ายแห่งเขี้ยวเราย่อมจะทำให้สัตว์นั้นสะดุ้งหนีไป หรือบางทีก็ตายอยู่ตรงน้ันเอง"
     กิ้งกือพูดว่า  การต่อสู้เอาตัวรอดของท่านเป็นการทำร้ายผู้อื่น  ทำให้มีศัตรูมีภัยจากสัตว์อื่น  ชีวิตของท่านคงไม่ปลอดภัยเท่าไรนัก เพราะสัตว์อื่นก็ย่อมมีเขี้ยวเล็บเหมือนกันที่จะทำร้ายท่านตอบแทน โดยเฉพาะสัตว์จำพวกมนุษย์ ย่อมมีอาวุธร้ายแรง  ฟันแทง  ทุบตีท่านจนตาย  ไม่ไว้ชีวิตท่านแน่ ส่วนวิธีการต่อสู้เอาตัวรอดของเราดีกว่า ไม่ได้ทำร้ายใคร จึงไม่มีภัย ไม่มีใครเกลียดกลัวเรา แม้แต่มนุษย์ผู้มีอาวุธร้ายแรง เห็นเราแล้วก็ไม่เคยทำอันตรายเราเลย"
     นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า  สัตว์ทั้งหลายย่อมเกิดมามีร่างกายอันเหมาะสมที่จะมีชีวิตอยู่ตามอัตภาพของตน  และมีวิธีต่อสู้เอาตัวรอดของตนแตกต่างกันออกไป  ตามที่พระพรหมได้สร้างมาแล้ว  แต่การต่อสู้เอาชีวิตรอดที่ดีที่สุดนั้นคือ  การไม่ต้องทำร้ายชีวิตและร่างกาย ของสัตว์อื่น  จึงไม่มีเวรมีภัยที่จะต้องระวังตัวกลัวอะไรเลย 
๐๐๐๐๐๐๐๐

๔๕. ค่าของนกขุนทอง 
     
     ชายคนหนึ่งมีอาชีพดักนกขุนทองมาสอนให้พูดแล้วขายได้ราคาแพง เพราะเขามีความคิดแปลกๆ  แหวกแนวในการสอนให้นกขุนทองพูดให้เหมาะเจาะอยู่เสมอ
     คราวหนึ่งเขาจับนกขุนทองมาได้ตัวหนึ่ง  เขาก็สอนให้มันพูดว่า 
     "ค่าของคนอยู่ที่ผลบุญ ค่าของเจ้าคุณอยู่ที่นกขุนทอง"
     จนกระทั่งนกขุนทองพูดคำนี้ได้ชัดเจนคล่องแคล่ว  ฟังเสียงโดยไม่เห็นนกขุนทองจะนึกว่าเสียงคนพูด 
     คร้ันแล้วเขาก็นำนกขุนทองตัวนั้นไปให้เจ้าคุณองค์หนึ่ง ซึ่งเขาทราบว่าชอบเลี้ยงนกขุนทองและมักจะซื้อด้วยราคาแพงลิ่ว  เพราะตัวท่านชื่อ ขุนทอง และท่านก็มีทรัพย์มาก ไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไรด้วยเพราะท่านเป็นพระภิกษุสงฆ์
     เมื่อไปถึงกุฎิท่านเจ้าคุณองค์นั้น  เขาก็เปิดผ้าคลุมกรงนกออก ดีดมือให้นกขุนทองพูด
     "ค่าของคนอยู่ที่ผลบุญ"
     "ค่าของเจ้าคุณอยู่ที่นกขุนทอง"
     มันพูดซ้ำๆ อยู่เช่นนี้หลายคำ  เจ้าคุณขุนทองฟังแล้วก็ชอบใจยิ่งนัก ออกปากถามว่า จะเอาราคาเท่าไรก็จะซื้อไว้ฟังมันพูดเล่นเป็นคติดีนัก
     "กระผมไม่คิดราคาแก่เจ้าคุณสูงนักหรอก  มีคนขอซื้อแล้ว ๑๐๐,๐๐๐ บาท ผมยังรักของผมอยู่  ถ้าเจ้าคุณจะกรุณาให้กระผมสักแสนหนึ่ง  กระผมก็จะขอถวาย  ต่ำกว่านี้ก็ถวายไม่ได้  กระผมเสียดายกระผมรักมันมาก"
     เจ้าคุณขุนทองต้องรักษาถ้อยคำยอมจ่ายเงินให้ชายคนน้ันไป ๑ แสนบาทเพื่อจะฟังมันพูด ๒ ประโยค 
     "ค่าของคนอยู่ที่ผลบุญ"
     "ค่าของเจ้าคุณอยู่ที่นกขุนทอง"
     นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า  ค่าของคนอยู่ที่ปัญญาและวาจา  ค่าของนกกาอยู่ที่ถ้อยคำน้ำเสียงเหมือนกัน
๐๐๐๐๐๐๐๐


๔๖. งูหลักหัก

     งูเห่าดอกจันทร์ตัวหนึ่ง มันอาศัยอยู่ในพงหญ้าริมทุ่งแห่งหนึ่ง  มีหญิงชาวนาคนหนึ่งเป็นเจ้าของนาแปลงน้ัน  เมื่อเข้าฤดูฝน  หญิงชาวนาก็ไปทำนาแปลงนั้น  ครั้นแลเห็นงูเห่าตัวนั้นก็เกิดความกลัวและเมื่อกลัวแล้วก็เกลียด จึงคว้าไม้ไผ่ข้างๆมือมาตีงูเห่าดอกจันทร์ตัวนั้น  มันก็เลื้อยหนีตกน้ำไปมองหาไม่เห็น  ตกเย็นหญิงชาวนาก็เดินทางกลับบ้าน  ห่างไกลจากทุ่งนาประมาณ ๑๐๐ เส้น  ครั้นตกกลางคืนก็เข้านอน 
     ฝ่ายงูเห่าดอกจันทร์ตัวนั้น  ถูกตีหลังหักด้วยความเจ็บปวดทรมาน  จะเลื้อยก็ลำบากมากนัก  เพราะเลื้อยได้ครึ่งลำตัว  ท่อนหางตายต้องลากไป  จึงมีความโกรธแค้นคิดผูกพยาบาทหญิงน้ันอยู่ในหัวใจของมันตลอดเวลา  ด้วยแรงโกรธแค้นพยาบาท คืนน้ันท้ังคืนมันก็อุตส่าห์เลื้อยลากท่อนหางของมันไปดมกลิ่นตามทางหญ้าน้ันไปจนถึงบ้าน  คร้ันแล้วมันก็อุตส่าห์เลื้่อยตะกายบันไดเรือนขึ้นไปจนถึงที่นอนเห็นหญิงคนน้ันนอนหลับอยู่  มันก็เข้ากัดเอาที่ข้อมือที่ตีมันด้วยไม้  หญิงน้ันตกใจตื่นก็เห็นงูเห่าดอกจันทร์มานอนอยู่ข้างๆจึงตีงูเห่าจนตาย 
    แต่ก่อนจะสิ้นใจตาย  งูเห่าดอกจันทร์ตัวพยาบาทน้ันมันก็พูดว่า  "เจ้าจะฆ่าเราต้องฆ่าให้เราตายเสียเถิด  เราไม่ว่าอะไร จะได้ตายไปให้พ้นความทรกรรมลำบาก แต่ทุกตีเราให้หลังหักนี้มันทรมานเรามากนัก เราจึงติดตามมาให้ฆ่าเราให้ตายเสียเถิด"
     แต่งูเห่าดอกจันทร์ หาได้เห็นไม่ว่าหญิงชาวนาคนน้ันก็นอนตายตัวแข็งอยู่  เมื่อรุ่งเช้าเพราะพิษอันร้ายแรงของงูเห่าดอกจันทร์ตัวนั้น 
     นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า  จะฆ่าก็ฆ่าให้ตาย จะขายก็ขายให้ขาด อย่าทำอะไรครึ่งๆกลางๆ  ทิ้งไว้กลางคันเป็นอันขาด 
๐๐๐๐๐๐๐๐

     

วันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2558

นิทานธรรมดาโลก (๑๔)


๔๑. ไม้ไผ่ที่กลายเป็นด้ามมีด

     กอไผ่กองหนึ่งในป่า  เมื่อถึงฤดูฝนก็แตกหน่อแทงดินขึ้นมา  เติบโตเป็นลำไม่ไผ่ร่วมกอกับพ่อแม่ของมันกลายเป็นกอไผ่ที่ใหญ่ขึ้น  ไม้ไผ่พ่อแม่  เมื่อถูกลมโยกพัดไปพัดมา  เสียดสีลำกันก็เกิดเป็นเสียงออดแอดเป็นคำพูดสอนลูกของมันที่เติบโตเป็นลำใหม่ว่า
     "ลูกเอ๋ย  ไม้ไผ่อย่างครอบครัวเรานี้  จะต้ังอยู่ได้เพราะไม้ร่วมกอเกาะกลุ่มกอกันให้เหนียวแน่น  เมื่อลมพายุพัดมาเราก็ตั้งมั่นอยู่ได้ ไม่โค่นล้ม"
     แม่มันสอนต่อไปว่า 
     "จะตั้งลำแข็งที่อยู่เป็นไม้ไผ่ตายแล้วไม่ได้  จะถูกลมพายุพัดหัก  จะต้องรู้จักอ่อนโยนโยนตัวไปตามกระแสลมพัด  จึงจะต้ังมั่นอยู่ได้"ฃ
     พ่อของมันสอนอีกว่า 
     "เมื่อถูกลมพายุพัดบ่อยๆ ลำต้นของไม้ไผ่ก็ได้ออกพละกำลังด้วยกายและโยกโยนตัวทำให้ลำไม้ไผ่แข็งแรงขึ้น  ลมพายุที่พัดเราจึงมีคุณประโยชน์แก่กอไผ่ของเราทางอ้อม ถ้าไม่ถูกลมพัดพัดเลย  ลำไผ่ของเราก็จะไม่แข็งแรง...."
     "ลมพายุพัดมาไม่น่ากลัวอะไร  ถ้าเรารู้จักอ่อนโอนโยกโยนลำตัวตาม" แม่ของมันพูด
     "เรากลัวอยู่อย่างเดียวคือลำต้นไม้ไผ่ที่คนตัดเอาไปแล้วจากกอของไม้ไผ่" พ่อต้นไผ่ลำแก่พูด
     "กลัวทำไมเล่าเมื่อเขาตัดกอเราไปแล้ว?"
     "เพราะเมื่อลูกกอของไม้ไผ่ถูกตัดแล้ว  เราก็ต้องเจ็บปวดหนหนึ่งแล้วเราจะต้องเจ็บปวดหนที่สองอีก เมื่อไม้ไผ่ลำนั้นไปเป็นด้ามมีด ด้ามพร้าให้คนจับเอามาตัดลำไม้ไผ่ของเราอีก  เราไม่กลัวมีด กลัวพร้าเลย  ถ้าหากไม่มีลำไม้ไผ่เป็นด้ามให้เขาถือเอามาฟันลำไผ่ด้วยกันเอง"
     นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า  ศัตรูภายนอกสำคัญน้อยกว่าศัตรูภายใน ที่พวกเดียวกันเองทำลายกันนั้น เกิดความวิบัติร้ายแรงกว่ามากนัก
๐๐๐๐๐๐๐๐

๔๒. ช้างบ้านล่อช้างป่า

     ครั้งหนึ่งโบราณกาลมาแล้ว  ยังมีพระราชาองค์หนึ่งโปรดเสด็จออกไปโพนช้างป่าอยู่เนืองนิตย์  คือออกป่าเพื่อล้อมจับช้างป่าเป็นกีฬาที่ทรงโปรดเป็นอย่างยิ่ง  เพราะเป็นการผจญภัยที่ตื่นเต้นอย่างหนึ่ง  และบางทีก็โชคดีได้ช้างเผือกมาประดับบารมีให้เป็นที่เลื่องลือชาปรากฎไปในต่างแดน  เป็นการข่มขวัญอริราชศัตรูไปในตัวด้วย
     คราวหนึ่งเสด็จไปโพนช้างป่าในป่าใหญ่แห่งหนึ่ง  มีโขลงช้างใหญ่อาศัยอยู่ในป่าแห่งนั้นนับร้อยเชือก  จึงโปรดให้ยกกองทัพช้างออกไปล้อมช้างป่าโดยวิธีเอาช้างป่าที่ฝึกฝนจนเชื่องดีเป็นช้างบ้านแล้วน้ันออกไปล้อมช้างป่าให้รวมตัวกันเข้ามา  ใช้ช้างบ้านขนาบฝูงช้างป่า  ใช้ช้างบ้านนำหน้าให้ช้างป่าหลงทางเข้าพะเนียดจับช้างที่สร้างไว้ด้วยเสาไม้อันแข็งแรง  จนช้างป่าตกเข้าไปถูกขังอยู่ในพะเนียด แล้วใช้ช้างบ้านออกไปตีวงช้างป่าในพะเนียด  เอาเชือกบ่วงบาศก์คล้องช้างตัวดี  ตัวงามๆไว้ตามต้องการ  ที่เหลือนอกนั้นก็ปล่อยให้เข้าป่าไปตามเดิม
     ช้างที่ถูกคล้องจับได้โดยมากมักจะเป็นช้างพลายลักษณะงามๆ เป็นจ่าโขลง เมื่อโขลงช้างจะลาจากไปเข้าป่า จึงร้องสั่งว่า
     "เจ้าจงไปอยู่ในป่าให้จงดี  รู้รักษาตัวให้ดีเถิด  เราเสียทีพลาดท่าเขาแล้ว เพราะช้างด้วยกันเป็นช้างล่อให้เราหลงเข้ามาติดอยู่ในพะเเนียดนี้  ลำพังมนุษย์ตัวน้อยๆ ไม่มีทางจะจับตัวเราได้เลย  เราต้องถูกจับคร้ังนี้ เพราะช้างด้วยกันแท้ๆ"
     นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า  ช้างป่าย่อมถูกจับคล้องด้วยบ่วงบาศก์ฺ  เพราะคนขี่ช้างบ้านเป็นพาหนะออกจับช้างป่าอันใด  คนเรานี้ย่อมตกไปเป็นเครื่องมือของฝ่ายศัตรู เอามาทำลายพวกเดียวกันได้เสมอมาตลอดทุกยุคทุกสมัย  คนที่รู้จักจับเอาคนฝ่ายศัตรูมาเป็นเครื่องมือทำลายฝ่ายศัตรูได้  จึงเป็นคนที่ฉลาดกว่า คนที่ตกเป็นเครื่องมือของศัตรู คือคนโง่เขลาโดยแท้
๐๐๐๐๐๐๐๐

๔๓. ไก่ดำกับไก่แดง

    ไก่ดำกับไก่แดงเป็นพี่น้องท้องเดียวกัน  มันเกิดจากแม่ไก่ตัวเดียวกัน แม่ไก่ก็เลี้ยงกกปกปักษ์มันมาจนโต  หากินเองได้แล้ว  จึงแยกแม่มันไป  มันเป็นไก่พันธุ์ไก่ชน  พ่อของมันก็เป็นไก่ชนมีชื่อ มันทั้งสองจึงถูกขายถูกซื้อไปอยู่กับเจ้าของคนใหม่  ไก่ดำไปอยู่กับนักเลงไก่ตำบลหนึ่ง  ไก่แดงไปอยู่กับนักเลงไก่อีกตำบลหนึ่ง  เพราะมันเป็นไก่ตัวน้อย  มีสมองน้อยๆ มันจึงลืมหมดแล้วว่าแม่ของมันอยู่ที่ไหน  พี่น้องท้องเดียวกันของมันตกไปอยู่แห่งหนตำบลใด แต่มันทั้งสองไปอยู่กับเจ้าของใหม่ ได้รับการเลี้ยงดูให้ข้าวให้น้ำ อาบน้ำทายา ทาน้ำมันเป็นอย่างดี มันเป็นไก่หนุ่มที่กำลัง มีปีกอันแข็งแรง มีเดือยที่แข็งอันแหลมคม  และมีขาอันแข็งแรง มันเคยได้ตีไก่ชนกับไก่อื่นอยู่เสมอ  และได้รับชัยชนะมาแล้ว  จนเจ้าของรักใคร่ทนุถนอมมาก เพราะเจ้าของได้เงินพนันจากการชนไก่ชนะมาแล้ว   
     อยู่มาวันหนึ่ง  เจ้าไก่ดำกับเจ้าไก่แดงนี้  ก็เดินทางโดยเจ้าของอุ้มมาสู่สังเวียนชนไก่แห่งหนี่ง  เมื่อได้เปรียบคู่กันแล้ว ก็กลายเป็นคู่เอกของสังเวียนนี้วันนั้น  มีคนถือหางเล่นพนันขันต่อกันหัวละเป็นเงินจำนวนสูงมาก
     เมื่อได้เวลาชน  มันจึงได้กลับมาพบหน้ากันเป็นครั้งแรกในสังเวียนชนไก่วันนั้น  ค่าที่มันเป็นไก่ชนนักสู้  ไม่เคยถอย  มันจึงจดจ้องเข้าหากัน  แล้วลงตีนลงปีกตีกันอย่างเอาเป็นเอาตาย  สายตาก็จ้องตากัน ปากต่อปากจดกัน ปีกต่อปีกผลัดกันตี  ผลัดกันเตะหน้าปักคอด้วยเดือยอันแหลมคม  ยกแล้วยกเล่า  มันเฝ้าแต่ตีกันอย่างไม่ราปีก  ไม่ยอมถอยจนเหนื่อยอ่อนแทบขาดใจ หน้าตาและลำคอถูกเดือยอันแหลมคมแทงจนเจ็บปวดชาไปหมด   แต่ใจของมันก็สู้ไม่ยอมถอย  มันชนกันสู้กัน  ตีกัน แทงกันอยู่อย่างพัลวัน  คนดูก็ส่งเสียงเชียร์อยู่รอบสังเวียน
     ในที่สุดเจ้าไก่แดงพลาดท่าถูกเดือยไก่ดำแทงเอา มันตาบอดไปข้างหนึ่งเหลือตาข้างเดียว  มันก็สู้ต่อไปจนหมดแรงล้มลงนอนหายใจรินๆรวยๆอยู่
    ทันใดน้ันเจ้าของไก่แดงเกิดความโมโหมืดหน้าเพราะต้องเสียพนันเป็นจำนวนมาก  จึงตรงเข้าจับคอไก่แดงหมายใจจะฟาดหัวกับพื้นให้ตายเสียเลย
     ไก่แดงเมื่อจวนสิ้นใจตาย มันก็ร้องว่า 
     "จะฆ่าเราด้วยเหตุอันใดเล่า เราก็สู้จนสุดชีวิตแล้ว  เราไม่รู้เลยว่าจะสู้กันไปทำไมด้วย"
     นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า  บางทีคนเราก็ไม่รู้ตัวเหมือนกันว่าจะเป็นศัตรูคู่อาฆาต  คู่ล้างผลาญชีวิตคนอื่นเพื่อประโยชน์อันใดกันแน่  เพราะอันที่จริงคนเราเกิดมาเป็นพี่น้องร่วมชีวิตกันแท้ๆ  ที่เกิดมาจากพระแม่ธรณีองค์เดียวกัน
๐๐๐๐๐๐๐๐

วันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2558

นิทานธรรมดาโลก ( ๑๓)


๓๘. ไก่ขันยาม

     ลูกไก่ตัวผู้ตัวหนึ่ง  มันเป็นไก่ดีมีความสังเกตุ  พิจารณาเมื่อมันเห็นอะไร หรือได้ยินเสียงอะไรผิดปกติธรรมดาสามัญ  มันก็หยุดมอง  หยุดฟัง แล้วคิดหาเหตุผลว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น  ถ้ามันคิดไม่ออกมันก็ถามแม่ของมันอยู่เสมอ  เมื่อรู้แล้วมันก็จดจำไว้  เพื่อว่าจะได้มีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัย  ไม่มีอันตรายมาถึงตัวมัน 
     มันเคยได้ยินเสียงพ่อไก่ขันอยู่เสมอมา  แต่การขันของพ่อไก่นั้น  ก็เป็นการขันที่มีความหมายอยู่เหมือนกัน  มันจึงถามแม่ของมันอยู่เสมอมา 
     เที่ยงคืนดึกสงัด  พ่อไก่ก็ขันคร้ังหนึ่งขันเสียง  "เอ๊ก อี้ เอ๊ก เอก"  อยู่ สองสามครั้งก็เลิกขัน  มันจึงถามแม่ของมันว่าพ่อไก่ขันทำไมในยยามเที่ยงคืนดึกสงัด
     แม่ไก่ตอบว่า  ขันเตือนไก่ตัวเมียและไก่น้อยทั้งหลายว่า  เวลานี้เที่ยงคืนดึกสงัดแล้วอย่าหลงใหลลืมตัว  ให้ตื่นขึ้นระวังภัยพวกสัตว์ร้ายบ้าง 
     คร้ันเวลาตีสาม  มันก็ขันอีกคร้ังหนึ่ง  จึงถามแม่ไก่ แม่ไก่ก็ตอบว่า พ่อไก่ขันเตือนให้รู้ตัวว่าอย่าหลับใหลลืมตัว  ให้ตื่นระวังภัย   เสียงขันเตือนนี้ก็ดังไปถึงหูของสัตว์ร้ายว่าพวกไก่ตื่นอยู่  อย่าได้จู่โจมเข้ามาทำร้ายพวกเรา
     คร้ันเวลาตีห้า  พ่อไก่ก็ขันกระชั้นเสียง  ติดต่อกันไป  จนกระทั่งแสงทองส่องฟ้า  ตะวันขึ้น  มันก็ถามพ่อไก่ขันทำไมในยามเช้าตรู่  อากาศกำลังสบาย  น่านอนหลับตาให้เป็นสุข 
      แม่ไก่ตอบว่า   พ่อไก่ขันเตือนว่าจวนสว่างแล้ว  ให้เตรียมตัวตื่นขึ้นคุ้ยเขี่ยอาหารกินกันต่อไป  เพราะบรรดาสัตว์ทั้งปวงก็ตื่นขึ้นหากินกันทั่วหน้า  ถ้าออกหากินช้าหรือสายเกินไป  สัตว์อื่นก็จะหากินเสียหมด  บรรดาไก่ก็จะหากินไม่พออิ่มท้อง เพราะเวลาเช้าตรู่เช่่นนี้ ย่อมมีสัตว์เล็กน้อยจำพวกแมลงออกหากินกันมาก  พอจะจับเอามาเป็นอาหารได้ดีกว่าตอนสายแล้ว
     นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า  แม้ไก่ซึ่งเป็นสัตว์น้อยกว่ามนุษย์  ก็ยังมีพ่อไก่คอยส่งเสียงขันเตือนภัย  และช่วยปลุกไก่น้อยๆ ให้ออกหากิน  คนเราผู้ฉลาดกว่าจะไม่มีคนผู้เป็นพ่อเป็นแม่ คนแก่คนเฒ่าคอยพูดจาสั่งสอนตักเตือน คนผู้มีอายุเยาว์อยู่อย่างไรเล่า  คนก็จะฉลาดน้อยกว่าไก่เป็นแน่
๐๐๐๐๐๐๐๐

๓๙. จักกะจั่นสนั่นไพร
     
     ในกาลครั้งหนึ่ง  มีโอรสพระราชามหากษัตริย์องค์หนึ่งชื่อ พระเจ้าพรหมทัต  โอรสทรงพระนามว่า "ภูริทัต"  ครั้นอายุสมควรจะศึกษาศิลปศาสตร์เพื่อมีศิลปวิทยาสำหรับเป็นพระราชาสืบวงศ์กษัตริย์ต่อไป  จึงได้เดินทางไปศึกษายังสำนักทิศาปาโมกข์ในป่าหิมพานต์ประเทศ  ตามธรรมเนียมของกษัตริย์โบราณกาลมา
     ครั้นไปศึกษาวิชาศิลปศาสตร์อยู่กับพระฤาษีในป่า  ก็ได้ฟังแต่ดนตรีป่า  คือเสียงวิหคนกร้อง จักกะจั่น จิ้งหรีด เรไร  ปี่แก้ว  ส่งเสียงขันกล่อมไพร  อยู่ทุกคืนวัน พาให้สุขสันต์คลายความคิดถึงเวียงวังอันเคยเป็นสุขสบาย  จึงได้ถามพระอาจารย์ว่า  บรรดาสัตว์ตัวน้อยเหล่านี้คือปักษาปักษี  จิ้งหรีด เรไร  จักกะจั่น  ทำไมจึงได้ส่งเสียงขันอยู่ตลอดเวลา  มันส่งเสียงขันเพื่อเหตุผลอันใด
     พระฤาษีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทางศิลปวิทยาและมีความรู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับธรรมชาติของสัตว์ป่า  เพราะเหตุได้คลุกเคล้า สัมผัสกับชึวิตสัตว์ป่าน้อยใหญ่มาช้านานเต็มที  จนมีความเข้าใจในสภาพชีวิต  จิตใจของสัตว์ป่าน้อยใหญ่เป็นอย่างดีด้วยสมาธิภาวนา  ก่อให้เกิดปัญญาด้วยจิตเมตตาก่อให้เกิดความรัก  ความเมตตาต่อบรรดาสัตว์ร่วมโลกร่วมชีวิตอย่างซาบซึ้ง  จึงได้อธิบายให้พระภูริทัตโอรสกษัตริย์ทรงทราบว่า 
     "บรรดาสัตว์น้อยใหญ่เหล่านี้ย่อมส่งเสียงร้อง  ส่งเสียงขัน สนั่นเสนาะไพรด้วยมูลเหตุ ๖ ประการ คือ
     ๑. ส่งเสียงขัน เพื่อพักผ่อนหย่อนใจตามธรรมชาติของจิตใจบรรดาสัตว์ทั้งปวง  ไม่ว่าสัตว์น้อยใหญ่ เมื่อยามอยู่ว่าง  ก็ย่อมส่งเสียงร้อง ส่งเสียงขันเพื่อระบายอารมณ์ ระบายความล้นเหลือของจิตใจให้ออกไปเป็นเสียงร้อง  เสียงขัน เมื่อระบายออกไปแล้วก็สบายกายสบายใจ สบายอารมณ์เป็นธรรมดา
     ๒. ส่งเสียงขัน ส่งเสียงร้องเรียกคู่ตามที่มันต้องการจะสืบพืชพันธุ์  มันย่อมจะส่งเสียงขัน ส่งเสียงร้อง เรียกหาคู่ของมัน โดยเฉพาะสัตว์ตัวผูั  ย่อมจะส่งเสียงร้องหาสัตว์ตัวเมีย  เมื่อตัวเมียได้ยินเสียงก็เร้าใจให้มันรีบตามเสียงมาเพื่อพบกัน มันก็ย่อมจะสมสู่เสพเสวนาการ  ให้พืชพันธุ์ของมันเข้าผสมพันธุ์กัน  เพื่อสืบพึชพันธุ์ต่อไปตามธรรมชาติชองสัตว์
     ๓.ส่งเสียงขัน ส่งเสียงร้องเพื่อแสดงอำนาจหรือศักดิ์ศรีของมันว่ามันเป็นใหญ่ มันเป็นเจ้าของถิ่นสถานที่ เป็นหัวหน้าฝูงหัวหน้าโขลงของมันอยู่ สัตว์อื่นย่อมเกรงกลัว  ไม่กล้าล่วงล้ำดินแดน เพราะเจ้าถิ่นส่งเสียงขันข่มป่าอยู่
     ๔. ส่งเสียงขัน ส่งเสียงร้องเพื่อความใคร่อยากจะเป็นใหญ่เหนือกว่าสัตว์อื่นในพนาเดียวกัน  ถ้าหากไม่มีสัตว์ใดขันสู้ มันก็จะได้เป็นใหญ่ต่อไป ถ้าใครขันสู้ก็ต้องต่อสู้กัน  ใครชนะก็ได้เป็นใหญ่ต่อไป  เพราะสัตว์ต้องมีหัวหน้าฝูง ควบคุมฝูงให้เป็นปึกแผ่น เพื่อความอยู่รอดของสัตว์เหมือนกัน
     ๕. ส่งเสียงขัน ส่งเสียงร้อง เพื่อบอกข่าวเตือนภัยแก่หมู่คณะของมันให้คอยระมัดระวังภัยอยู่เสมอเพื่อความอยู่รอดของหมู่สัตว์
     ๖. ส่งเสียงขัน ส่งเสียงร้องเพื่อเป็นดนตรีธรรมชาติขับกล่อมพงไพร ให้รื่นเริงและเป็นสุข  อบอุ่นใจแก่บรรดาสัตว์ทั้งปวง  เพราะถ้าพงไพรเงียบสงัด ปราศจากเสียงร้องของหมู่สัตว์ ป่าจะเงียบเหงาเศร้าวิเวกวังเวงเกินไป ไม่มีชีวิตชีวา  ไม่มีคลื่นเสียงของหมู่สัตว์ อันนี้เป็นกฎของพระผู้เป็นเจ้า ท่านสาปสรรค์ไว้ดังนี้  จะขาดเสียมิได้เลย
     นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้วา  เสียง แสง สีมีไว้ด้วยพระพรหมผู้เป็นเจ้าสร้างสรรค์ไว้ เพื่อเป็นประโยชน์แก่สรรพสิ่งทั้งปวง ทั้งที่มีชีวิตและไมมีชีวิต  บรรดามีอยู่ในโลกนี้  เพราะฉนั้นจงอย่าได้รำคาญต่อเสียง แสง สีที่มีอยู่เลย 
๐๐๐๐๐๐๐๐

๔๐. พระยาช้างเผือก


     ลูกช้างเชือกหนึ่ง  มันเกิดในป่า  เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วมันก็ถูกแม่ของมันเคี้ยวใบไม้พ่นตามตัวอยู่เสมอ  ส่วนลูกช้างเชือกอื่นๆ ไม่เห็นมีแม่ของมันเคี้ยวหญ้าพ่นเหมือนมันเลย  มันก็เกิดความสงสัย จึงถามแม่ของมันว่า
     "แม่เคี้ยวใบไม้พ่นตัวของลูกทำไมทุกวัน  แม่ควรจะกินใบไม้เป็นอาหารให้อ้วนพีดีกว่า  เอามาพ่นทิ้งเสียเช่นนี้  จนกระทั่งแม่ผ่ายผอมลงไปเพราะกินอาหารไม่พอ"
     แม่ของมันเมื่อได้ยินลูกช้างถามก็ตอบว่า
     "ลูกช้างเอ๋ย  เจ้าไม่รู้เลยว่าแม่รักเจ้าเพียงไร  เพราะความรักเหลือกำลังนี้แหละ แม่จึงต้องเสียสละอาหารพ่นอาหารทาตัวลูกอยู่ทุกวันนี้"
     "แม่รักลูกช้างแล้ว ทำไมจึงต้องพ่นอาหารทาตัวลูกด้วยเล่า?"
    "ลูกช้างเอ๋ย  เจ้าไมรู้อะไรเลย  ส่วนแม่รู้วา่ลูกเกิดมาผิวประหลาดกว่าบรรดาลูกช้างทั้งหลายในป่านี้  เพราะรูปร่างลักษณะดีเกินตระกูลช้างป่าทั้งปวงอย่างหนึ่ง  ขนกายของเจ้าก็เป็นสีแดง  ไม่เป็นสีดำเหมือนช้างทั้งปวงอย่างหนึ่ง เพดานปากของเจ้าก็เป็นสีขาวอย่างหนึ่ง  เล็บเท้าของเจ้าก็มีสีขาวอย่างหนึ่ง  เครื่องหมายอย่างนี้บอกว่าเจ้าเป็นลูกช้างมีบุญมีกรรมผสมกัน  เจ้าจะต้องจากแม่จากป่าจากโขลงช้างไป  เพราะจะมีคนจับเจ้าเอาไปขังไว้  ผูกไว้ยังโรงช้างเผือก  เจ้าจะมีคนเลี้ยงหญ้า เลี้ยงน้ำ อาบน้ำให้ตลอดชีวิต ไม่ต้องลำบากหากินเอง  แต่เจ้าจะถูกผูกโซ่ล่ามไว้  ไปไหนไม่ได้เลย  ไม่มีโอกาสจะได้มีลูกช้างสืบตระกูลต่อไปด้วย  เพราะเขาห้ามมิให้เจ้่าเสพสมกับช้างอื่นที่ตระกูลต่ำกว่า  แม่รักเจ้า คิดถึงเจ้า จึงต้องคอยเคี้ยวใบไม้พ่นกายเจ้า เพื่อมิใหใครล่วงรู้มาจับเอาเจ้าไปเสียจากแม่"
     พูดแล้วแม่ช้างก็ยืนร้องไห้น้ำตาไหลอาบหน้า  แต่ไม่มีเสียงคร่ำครวญที่เรียกกันว่า "ร้องไห้ช้าง"
     ต่อมาไม่นานเลย  ก็มีคนมาจับเอาลูกช้างเชือกนั้นไปถวายพระราชาขึ้นระวางเป็นพระยาช้างเผือก  มีคนคอยเลี้ยงให้ข้าวให้น้ำ แต่ต้องผูกล่ามโซ่ยืนอยู่แต่ในโรงพระคชาธาร  ต้องจากแม่ช้างไป แม่ช้างก็ได้แต่ส่งเสียงร้องเรียกลูก
     "ลูกเอ๋ย แม่อุตส่าห์เคี้ยวใบไม้พ่นสีพรางตาคนไว้ก็ไม่พ้น  ลูกต้องจากแม่ไปจนได้"
     นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า  ชีวิตย่อมเป็นไปตามวิถีของโลก ไม่มีผู้ใดจะขัดขวางได้  การก้าวขึ้นสู่ที่สูง  มียศศักดิ์ใหญ่ ไม่ต้องลำบากในการหากินแต่ก็ใช่ว่าจะเป็นสุขโดยแท้จริง  เพราะขาดอิสระเสรีภาพ ไม่เป็นไปตามธรรมชาติของชีวิตธรรมดาของสัตว์โลกทั้งหลาย 
๐๐๐๐๐๐๐๐