วันเสาร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2558

นิทานธรรมดาโลก (๑๙)


๕๖. พระไทรเทวา

     ยังมีต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่ง  มีอายุยั่งยืนมากว่า  ๒๐๐ ปี   มีพระเทวาองค์หนึ่งจุติมาอยู่ในต้นไทรนั้น  วันดีคืนดีพระเทวาก็แสดงเทวาภินิหารให้คนเห็น  คนก็เล่าลือกันไปว่าต้นไทรต้นนี้มีพฤกษาเทวาสถิตย์อยู่  อาจจะคุ้มภัยให้คุณแก่คนทั้งหลายได้ นับแต่นั้นมาก็มีคนมากราบไหว้บูชาสักการะอยู่เสมอ
     วันหนึ่งมีพระธุดงค์องค์หนึ่ง  เดินธุดงค์ท่องเที่ยวแสวงหาความสันโดษวิเวก  บำเพ็ญสมณธรรม  เดินผ่านมาเห็นโคนต้นไทรร่มรื่นดี  จึงปักกลดลงพักอยู่โคนต้นไทรน้ัน
     พระไทรเทวา  เห็นพระธุดงค์มาอาศัยปักกลดอยู่ที่โคนต้นไทร  ครั้นตกกลางคืนดึกสงัด  จึงปรากฎตัวมานั่งไหว้พระธุดงค์อยู่  โดยปรากฎตัวเป็นหญิงสาวสวยงามมากรูปร่างจำเริญตา  ครั้นพระธุดงค์เห็นตัวนั้นก็หลับเนตรเข้าญานภาวนา  ก็ทราบด้วยญานสมาบัติว่าหญิงสาวนี้ที่แท้ก็คือพระไทรเทวา หาใช่มนุษย์ไม่  จึงสั่งสนทนาธรรมกับพฤกษาเทวาว่า 
     "ดูก่อนท่านพฤกษาเทวา  ท่านอาศัยอยู่ที่นี่เป็นสุขดีอยู่หรือ ?"
   พฤกษาเทวา  "เป็นสุขดีพอสมแก่อัตภาพ"
   พระธุดงค์       "อาหารท่านได้มาแต่ไหน?"
   พฤกษาเทวา  "เป็นของทิพย์ ได้มาแต่บุญเก่าทำไว้แต่ปางก่อน"
   พระธุดงค์        "อาหารที่มนุษย์นำมาบวงสรวงท่าน มีอยู่เสมอหรือ"
   พฤกษาเทวา   "มีอยู่เสมอมิได้ขาดเลย บางวันก็มีมากมายจนเหลือเฟือเป็นอาหารแก่นกกา  ลิง ค่าง บ่าง ชนี และสัตว์พวกหนู มด แมงทั้งหลาย"
   พระธุดงค์        "อาหารที่มนุษย์มาถวาย  ท่านได้เสวยบ้างหรืออย่างไร?"
  พฤกษาเทวา  "ลิ้มแต่กลิ่นและรสอนัระเหิดเป็นทิพย์เท่านั้น  เหมือนท่านดมกลิ่นดอกไม้ แต่มิได้กลืนกินดอกไม้เข้าไปฉนั้น"
  พระธุดงค์   "อาหารจำพวก สุรา เมรัย บุหรี มีหรือไม่  ท่านพอใจลิ้มรสมันหรือไม่"
   พฤกษาเทวา  "อาหารมึนเมาบางชนิด  ใครมีอะไร ใครชอบอะไร ก็นึกว่าเทวดาต้องชอบอย่างนั้น  เขาก็เอามาถวายอย่างนั้นเรียกว่า อามิสบูชา คือบูชาตามมีตามชอบของคนแต่ละคน"
   พระธุดงค์   "ของถวายบูชาเหล่านี้มีคุณประโยชน์แก่เทวดาอย่างไรหรือไม่"
   พฤกษาเทวา  "อาหารที่เขานำมาถวายบูชา  ย่อมมีคุณประโยชน์แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสมอ คือ หนึ่ง  เป็นคุณประโยชน์แก่ผู้รับ สองเป็นคุณประโยชน์แก่ผู้ให็  สามเป็นคุณประโยชน์แก่สัตว์อื่น"
   พระธุดงค์   "ที่ว่าเป็นประโยชน์แก่ผู้รับก็ทราบอยู่  แต่เป็นประโยชน์แก่ผู้ให้ และเป็นประโยชน์แก่สัตว์อื่นนั้นคืออะไร?"
   พฤกษาเทวา   "เป็นประโยชน์แก่ผู้ให้คือ ได้บริจาคทาน ย่อมเกิดเป็นบุญกุศลแก่ผู้ให้ทุกครั้ง  ทุกอย่างที่บริจาคออกไปเป็นประโยชน์แก่สัตว์อื่นก็คือ  แม้เทวดาจะไม่ได้ลิ้มรส ก็ยังเป็นประโยชน์แก่นก หนู สัตว์น้อยใหญ่จะได้กินเป็นอาหาร"
   พระธุดงค์   เขาเอาอาหารมาถวายแล้ว ท่านตอบแทนเขาให้เขาไปได้ประโยชน์สมประสงค์อย่างไรหรือไม่ เช่น หายป่วยไข้   ได้โชคลาภ เป็นต้น"
   พฤกษาเทวา  "ทุกคนที่ประกอบกรรมดี  เขาย่อมได้รับผลดี  คือบุญกุศลเกิดแก่เขาทันทีในบัดดลนั้นเอง  เทวาดก็มีแต่พลอยยินดีอนุโมทนา อำนวยพรให้เขาสมประสงค์ คอยดลใจให้เขาคิดดี พูดดี ทำดี ซึ่งก็เท่ากับคอยคุ้มครองบันดาลให้เขาสมประสงค์นั่นเอง"
   พระธุดงค์  "บางคนทำทาน  ทำบุญแล้วแก่พระสงฆ์  และเทวดาก็สมความปรารถนา บางคนก็ไม่สมปรารถนา  ไม่ประสบโชค ไม่พ้นทุกข์พ้นภัย เพราะเหตุใด"
   พฤกษ่าเทวา  "เพราะศรัทธา เพราะศีล เพราะสัจจะ เพราะจาคะ  เพราะปัญญา และเพราะกรรมของเขาต่างกัน"
   พระธุดงค์   "ขอให้ท่านอธิบายให้เข้าใจ"
   พฤกษาเทวา   "ถ้าศรัทธาของเขามั่นคง และมาก เขาก็ย่อมได้รับผลมากกว่าคนที่ศรัทธาคลอนแคลน  และมีศรัทธาหัวเต่ายาวแล้วสั้นได้  เขาย่อมได้รับผลน้อยดังนี้เป็นต้น"
   พระธุดงค์   "ถ้อยคำวาจาของท่านตรงกับสัจธรรมในพระบรมศาสดาของเราทั้งสิ้น"
   พฤกษาเทวา  "ข้าพเจ้าก็กล่าวตามสัจธรรมของพระพุทธเจ้า"
   พระธุดงค์   "เหตุใดท่านจึงมีความรู้ความเข้าใจหลักธรรมในพระพุทธศาสนา"
   พฤกษาเทวา   "เพราะชาติปางก่อน  เราก็บวชอยู่ในพระพุทธศาสนาแล้วจุติมาเกิดเป็นพฤกษาเทวา"
   พระธุดงค์   "เหตุใดท่านจึงจุติมาเกิดเป็นพฤกษาเทวาดังนี้"
   พฤกษาเทวา   ไเพราะข้าพเจ้ายังไม่บรรลุมรรคผล  ยังมีอุปทานยึดมั่นอยู่  จึงยังมิหลุดพ้นเป็นพระอรหันต์เข้านิพพาน  แม้ตัวท่านก็จะมีคติเช่นเดียวกับข้าพเจ้า  ถ้ายังไม่บรรลุพระอรหันต์"
     นิทาานเรื่องนี ้ สอนให้รู้ว่า  ทุกสิ่งที่บริจาคออกไป  ย่อมมีผลแก่ผู้รับ  แก่ตัวผู้บริจาคและสัตว์อื่นเสมอ 

๕๗.กบอยู่ใต้กอบัว
     
     กบตัวหนึ่งมันเกิดอยู่ในสระและเติบโตในสระแห่งหนึ่งซึ่งมีดอกบัวหลวงบานสะพรั่ง
     วันหนึ่ง มันเที่ยวแหวกว่ายน้ำอยู่ในสระ  และเที่ยวกระโดดกินอาหารจนเหนื่อยแล้ว  มันจึงมานั่งพักบนใบบัวที่ลอยแผ่อยู่บนผิวน้ำของบึงน้ัน  มันเห็นผึ้งบินไปมาเข้าคลึงเคล้าเกสรดอกบัว  บินมาแล้วก็บินไปอยู่เสมอ  มันไม่เข้าใจว่าผึ้งเหล่าน้ันบินมาคลึงเกสรดอกบัวเพื่ออะไรกัน  มันจึงร้องถามผึ้งตัวหนึ่งว่า 
      "นั่นเจ้ามาเกาะดอกบัวทำไม?"
     ผึ้งชำเลืองมองดูกบตัวโต  แล้วอมยิ้มนิดหนึ่ง  จึงร้องตอบไปว่า
     "เจ้าน่ะตัวโตเสียเปล่า  แต่โง่เง่าอะไรอย่างนี้ก็ไม่รู้"
     "เอ็งว่าข้าโง่หรือ หัวสมองข้าโตกว่าตัวเจ้านะจะบอกให้"ฃ
     "ถ้าเช่นนั้น  ทำไมเจ้าอยู่ทีกอบัวแล้วไม่รู้คุณค่าของดอกบัวเลย"
     "ดอกบัวมีคุณค่าอย่างไรมั่ง"
     "ดอกบัวมีกลิ่นหอมหวลยั่วยวนใจ  ส่งกลิ่นหอมตามลมไปไกลจนเราอยู่แสนไกล  ก็ได้กลิ่นจึงบินมาตามลมเข้าดื่มดมกลิ่นอันหอมหวลของดอกบัว  ดอกบัวมีเกสรอันละเอียดอ่อนน่าคลุกเคล้าน่านอนนั่ง  น่าไต่ตอม  ดอกบัวมีน้ำหวานอันโอชะ เราดื่มกันแล้วอิ่มเอมหอมหวานชื่นใจนัก   เราดื่มกินแล้วก็อมเอาไปเก็บไว้ยังรวงรังของเราตลอดเวลา  ทำไมหนอสัตว์ตัวโตๆ เช่นเจ้าจึงไม่รู้จักคุณค่าของดอกบัว"
     "อ๋อ  เราไม่สนใจหรอก  ดอกบัวมิใช่อาหารของเรา  อีกอย่างหนึ่งเราเป็นสัตว์ชอบเล่นน้ำ  จมูกเป็นหวัดตลอดปี  เราจึงไม่ได้กลิ่นของดอกบัวเลย  เรากินแต่แมลงที่มาไต่ตอมดอกบัวเหมือนกัน  แต่ผึ้งอย่างเจ้าเราไม่อยากกินหรอก"
     "เพราะอะไรจึงไม่ชอบกินผึ้งอย่างเรา"
     "เพราะกินเข้าไปมันเจ็บปวดปากเหลือเกิน  สัตว์อย่างพวกเจ้านี่เป็นสัตว์ที่มีพิษร้ายแรงเกินตัวจริงๆ เวลาเป็นๆอยู่  แต่ถ้าตกน้ำตายแล้ว เนื้อของเจ้าก็อร่อยมาก"  
     นิทานเรื่องนี้ สอนให้รู้ว่า สัตว์ทุกชนิดคิดว่าตนเองฉลาด  สุัตว์อื่นโง่กว่าตนเองเสมอ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น