วันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

นิทานธรรมดาโลก (๑๒)


๓๕. ไก่ต่อไก่เถื่อน

     ไกเถื่อนฝูงหนึ่ง  อาศัยอยู่ในป่ามันมีไกตัวผู้ตัวหนึ่งเป็นหัวหน้าฝูง คอยต่อสู้คอยระมัดระวังภัย  คอยคุ้มครองป้องกันไก่ตัวเมีย  และไก่เล็กไก่อ่อนอยู่เสมอมา
     วันหนึ่งนักต่อไก่ป่าคนหนึ่งพบเข้า  จึงไปเอาไก่แจ้มาเลี้ยงไว้จนเชื่องดี  แล้วก็ทำ "ครึน"  เครื่องดักไก่ป่าเข้าเป็นเชือกบ่วง วางไว้กับพื้นหญ้า  ถ้าไก่ป่าเดินมาสะดุดเข้าเชือกนั้นมีหูรูด  ก็จะรูดเอาตีนไก่ติดหลักที่ปักไว้ ไก่ก็ดิ้นไม่หลุด คนก็จับเอาไก่ป่ามาฆ่าแกงกินเป็นอาหารได้
     พรานครึนนักต่อไก่ป่า  ลอบเอาไก่ต่อไปปักหลักผูกขาไว้  ณ บริเวณชายป่า  แล้ววางครึนคือบ่วงไก่ไว้กับพื้นหญ้า  แล้วแอบซุ่มอยู่ชายป่า  คร้ันได้เวลาหากิน เจ้าไก่ป่าก็พาฝูงไก่ออกหากิน  เมื่อมาพบไก่ต่ออยู่กลางแปลง จีงพากันเข้ามาหา เพื่อจะดูวา่เป็นไก่ป่าพวกเดียวกันหรือไก่ป่าอื่นแปลกปลอมล่วงถิ่นเข้ามา  เมื่อไก่ป่าเจ้าถิ่นเห็นว่าไม่ใช่ไก่ป่าเดียวกันจึงเข้าจิกตี  ไก่ตัวเมียก็จึงเข้ามาดู  ทันใดนั้นเองตีนก็ปะเตะเอาครึนเข้า ขาเข้าไปติดอยู่ในบ่วง    ดิ้นไม่หลุด ไก่อื่นรุมกันเข้ามาช่วยจิก  เลยติดครึนเข้า คร้ันแล้วไก่อื่นก็ตกใจหนีไปทิ้งไก่ที่ติดครึนนอนอยู่  เจ้าพรานไก่นักต่อไก่ก็เข้ามาจับเอาไปฆ่าแกงกิน
     เมื่อพรานเข้ามาจับตัวมัน  มันก็ดิ้นรนให้พ้นมือแล้วก็ส่งเสียงร้องว่า "ลูกเอ๋ย ระวังไก่แปลกหน้าให้ดี"
     นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า อย่าไว้ใจคนแปลกหน้า ให้พินิจพิจารณาสิ่งที่ผิดปกติธรรมดาให้จงดี
๐๐๐๐๐๐๐๐

๓๖. หอยสังข์จำศีล


     ในกาลครั้งหนึ่ง  สถานที่แห่งหนึ่งซึ่งเป็นชายป่า  มีลำธารไหลผ่านต้นไม้ใบหญ้าเขียวชะอุ่มชุ่มเย็น  สัตว์สองเท้า สี่เท้า และสัตว์เลี้อยคลานตลอดจนนกหนูในป่านั้น  ก็อยู่อาศัยมาด้วยความผาสุกตามอัตภาพของตน  ด้วยอาหาร น้ำ และอากาศธรรมชาติ  จะมีภัยจากมนุษย์และสัตว์ร้ายตลอดจนภัยธรรมชาติ เช่น อุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย  ก็คอยหลบหลีกรักษาตัวเอาเอง  ก็เป็นอยู่ดั่งนี้โดยเท่าเทียมกันทั้วหน้า  บรรดาสัตว์ทั้งหลายในป่านั้นล้วนแต่เกิดมามีชีวิตอยู่เติบโต   แล้วก็ล้มตายจากกันไปตามธรรมดาด้วยความชรา หรือถูกสัตว์อื่นมาเบียดเบียนบ้าง  ยังมีชีวิตอยู่ก็ออกหากินกันไป  สมสู่สืบพันธ์ุกันไป  หมุนเวียนอยู่ตามยถากรรมเช่นนี้
     คร้้งนั้นยังมีสัตว์  ๓ ชนิด  เป็นมิตรสหายกัน คือ คางคก กบ และหอยสังข์  เพราะอาศัยอยู่ด้วยกันและไม่เป็นเวรภัยแก่กัน
    คร้ันถึงฤดูแล้งเดือนสี่เดือนห้า  เมื่อน้ำในลำธารงวดลง  อาหารฝืดเคืองเจ้าสัตว์ทั้งสามก็จะจำศึลชั่วคราวเป็นเวลา ๑ เดือน ๒ เดือน รอเวลาฝนตกใหม่จึงออกหากินต่อไป ระหว่างเวลาจำศีลนี้ก็จะหยุดออกหากินหยุดการเดินทางหยุดการเคลื่อนไหวใดๆ หมดทั้งสิ้น  ขุดรูเข้าไปนอนอยู่ในดิน นอนอยู่นิ่งตลอดเวลา  เมื่อร่างกายมิได้ใช้กำลังไม่เสียกำลังก็อยู่ในอาการสงบระงับ  เป็นการเข้าสมาธิอย่างยิ่ง  จนถึงขั้นหายใจก็เกือบจะไม่หายใจ  คือ หายใจน้อยที่สุด  ส่วนอาหารและน้ำน้ัน หยุดกินโดยสิ้นเชิงจนกว่าฝนจะตกลงมาใหม่ในฤดูฝน  เมื่อฝนแรกตกลงมาวันใด  จึงหยุดการจำศีลออกหากินต่อไปใหม่อีกคราวหนึ่ง 
     คราวน้ันตกข้างขึ้นเดือนสี่  เจ้าสัตว์ทั้งสามนี้ก็ล่วงรู้โดยปัญญาญาณว่าน้ำในลำธารแห้งขอดแล้ว  ปีนี้น้ำในลำธารแห้งขอดเร็วกว่าทุกปี  มีอากาศร้อนจัด อากาศแห้งมาก เพราะอากาศขาดน้ำ ด้วยป่าไม้ถูกทำลายลงไปมาก  จึงขาดลักษณะอันเป็นสื่อให้หมอกและน้ำฝนตกลงมาบนภูเขา   แล้วหลั่งไหลมาตามลำธารเหมือนปีก่อนๆ 
     เจ้าสัตว์สามมิตร  จึงมาพบกันเป็นครั้งสุดท้ายที่ชายตลิ่งริมธารแห่งน้ัน 
     คางคกพูดขึ้นก่อนว่า บัดนี้ถึงเวลาที่เราจะต้องจำศีล อดน้ำ อดอาหาร หยุดการเคลื่อนไหวกันแล้ว
    กบพูดว่า  ถูกแล้วปีนี้พระผู้เป็นเจ้ากำหนดให้เราต้องจำศีลกันเร็วขึ้นกว่าทุกปีมา  เพราะน้ำในลำธารแห้งขอดแล้ว
     สังข์พูดว่า ถึงแม้พระผู้เป็นเจ้าจะกำหนดให้เราจำศีลเร็วขึ้น  พระผู้เป็นเจ้าก็คงกรุณาสร้างน้ำฝนลงจากฟ้าเร็วขึ้นเหมือนกัน
     คางคกพูดว่า ใช่แล้ว พระผู้เป็นเจ้าทรงมีความกรุณาเราอยู่ตลอดมา เราไม่ต้องวิตกกันไปนัก
     สังข์พูดว่า "ในระหว่างเวลาจำศีลนี้ เราก็จะไม่ได้พบกันเลย  เมื่อฝนตกลงมาเมื่อไรเราจึงจะได้พบหน้ากันใหม่  แต่มันไม่แน่นอนเสมอไป เราทั้งสามอาจจะได้พบหน้ากันเป็นคร้ังสุดท้าย ถ้าหากฝนตกใหม่  ไม่มีใครกลับมาก็อย่าห่วงอาลัยเลย  เพราะเราได้กลายเป็นธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ กลับคืนไปอยู่กับพระผู้เป็นเจ้าเรียบร้อยแล้ว"
     คร้ันคางคกกับกบได้ฟังแล้วก็เริ่มใช้เท้าหลังขุดดินออ่นริมลำธาร เท้าหน้าตะกุยดินออกถอยหลังเข้าในดินจมมิดตัวมิดหัว  ใช้ดินที่ขุดคุ้ยออกมาปิดช่องประตูดินเสียให้สนิท  ไม่มีสัตว์ใดจะเห็นได้แล้วก็นอนนิ่งหลับตาสงบจิตอยู่ ณ ที่น้ัน  เป็นการจำศีลเข้าสมาธิอย่างสูงสุด  ดังที่เคยปฎิบัติกันตามธรรมเนียมของสัตว์ตระกูลคางคกสืบมาชั่วกัปป์ชั่วกัลป์
     เจ้ากบก็ปฎิบัติเช่นเดียวกับคางคก  ตามประเพณีของสัตว์ตระกูลกบที่ถือปฎิบัติในการจำศีลภาวนาสืบต่อกันมาตลอดชั่วกัลป์ของตระกูลสัตว์ประเภทกบ  ซึ่งสัตว์อื่นหาได้รู้และเข้าใจไม่
     เจ้าหอยสังข์  ได้สงบนิ่งฟังเสียงอยู่จนสิ้นเสียงขุดดินก็รู้ได้ด้วยปัญญาญาณว่าเพื่อนสัตว์ทั้งสองจำศีลเรียบร้อยแล้ว   จึงได้ใช้ปากคีบเดินไปแสวงหาที่จำศีลของตนเองตามยถากรรม  เพราะไม่มีตีนเพื่อจะขุดคุ้ยดินให้เป็นช่องเป็นรูเข้ามุดอาศัยอยู่จำศีลได้เหมือนสัตว์ทั้งสอง  เจ้าหอยสังข์ต้องใช้ปากเดินไปจนถึงโคนต้นไม้ใหญ่แห่งหนึ่ง  เป็นโพรงมีอากาศเย็นมีใบไม้แห้งกองสุมอยู่  มันจึงเข้าหมกตัวอาศัยอยู่ในโพรงไม้และซุกซ่อนตัวอยู่ใต้กองใบไม้แห่งนั้น  เพื่อจำศึลอยู่อาศัยจนสิ้นฤดูแล้งจัด  ตามประสาสัตว์ เช่น หอยสังข์ เคยจำศีลกันมาชั่วกัปป์ชั่วกัลป์ตามตระกูลหอยสังข์  ซึ่งสัตว์อื่นหาทราบไม่ สัตว์ทั้งสามซึ่งเป็นสหายรักจึงต่างคนต่างจำศีลกันไปตามยถากรรมของตน ซึ่งแม้แต่คนก็หาทราบไม่
     จนกระทั่งถึงเดือน ๖ ฝนแรกตกลงมาหลายห่าใหญ่  แผ่นดินชุ่มฉ่ำด้วยน้ำฝนไหลนอง  ตลิ่งลำธารก็มีน้ำซึมเข้าไปถึงตัวคางคกและตัวกบ  รู้สึกชุ่มฉ่ำ ดินอ่อนยุ่ยมันจึงขยับตัวใช้ตีนหน้าตะกุยดินใช้ตีนหลังผลักตัวออกมา จากช่องเฉพาะตัวที่มันจำศีลอยู่เกือบ ๒ เดือนเต็ม  ครั้นเคลื่อนตัวออกมาดื่มน้ำฝนแล้ว ร่างกายก็แข็งแรงขึ้น มันจึงกระโดดออกหาแมลงและสัตว์น้อยๆ กิน ให้มีกำลังกายแข็งเรงต่อไป  แล้วมันทั้งสองก็ได้พบกันทีริมธารแห่งนั้นเหมือนเดิม หายหน้าไปก็แต่เจ้าหอยสังข์ ยังไม่เห็นมันเดินมา
     เจ้าคางคกกับเจ้ากบ  ก็พากันกระโดดไปหากินและคิดถึงเจ้าหอยสังข์เพื่อนรักร่วมโลกของมันอยู่เสมอ
     วันหนึ่งมันกระโดดไปที่โคนต้นไม้ใหญ่ริมลำธาร  มันก็พบซากหอยสังข์นอนตายอยู่ที่กองขี้เถ้า  เพราะไฟป่าได้ไหม้ต้นไม้นั้นเหลือแต่ตอ  เจ้าหอยสังข์ทนไฟไม่ได้  มันจึงนอนตายเหลือแต่เปลือกกลิ้งอยู่  ในกองขึ้เถ้านั้นเอง
     เจ้าคางคกกับเจ้ากบเห็นแล้วมองตากันและกัน  นึกไปถึงถ้อยคำของเจ้าหอยสังข์ที่กล่าวในวันสุดท้ายที่เข้าจำศีลว่า "ถ้าหากฝนตกใหม่ ไม่มีใครกลับมาก็จงอย่าได้เป็นห่วงอาลัยเลย  เพราะเราได้กลายเป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ กลับคืนไปอยู่กับพระผู้เป็นเจ้าเรียบร้อยแล้ว"
     เจ้าคางคกพูดว่า "ส่วนเราต้องกระโดดโลดเต้นต่อไป"
     เจ้าคางคกว่า "เราก็ต้องลำบากลำบนหากินต่อไป"
     นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า  แม้แต่สัตว์ตัวน้อยๆ ก็จำศีลภาวนา และสัตว์ตัวน้อยๆน้ันก็มีชีวิตเป็นไปตามยถากรรม  แต่สัตว์ตัวน้อยๆนั้นก็มีธรรมะคุ้มครองใจ ส่วนคนเราเป็นสัตว์ประเสริฐจะเลวทรามกว่าสัตว์จำพวกคางคกทีเดียวหรือไฉน
๐๐๐๐๐๐๐๐

๓๗. เสียงกาเหว่าเร่าร้อง

     ยังมีนกกาเหว่าคู่หนึ่ง  มันทำรังอาศัยอยู่บนยอดไม้ใหญ่บนภูเขาลูกหนึ่งมานานแล้ว  วันหนึ่งมันเห็นพระธุดงค์องค์หนึ่งแบกกลดเดินทางมาปักกลดอยู่บนเชิงเขาลูกนั้น  มันบินไปหากินกลับมาตอนเย็นก็แลเห็นพระธุดงค์องค์นั้น  เดินจงกรมไปมาอยู่ที่ลาดเชิงเขาน้ันจนค่ำแล้ว  พระธุดงค์ก็หยุดเดินจงกรมเข้าอยู่ในกรดน้ัน 
     ครั้นตกดึก  มันได้ยินเสียงสัตว์เดินมาพร้อมทั้งได้กลิ่น มันก็รู้ว่าเสือร้ายมาหากินคอยตะครุบกัดกินสัตว์น้อยที่ออกหากินในป่าน้ัน  เช่น กระต่าย และหมาป่า  เป็นต้น  มันจึงส่งเสียงร้องอย่างกระชั้นว่า
     "เกว่า ๆ ๆ ๆ"  เป็นเชิง เตือนให้สัตว์ทั้งปวงตื่นขึ้นระวังภัยจากเสือร้าย
     พระธุดงค์องค์น้ันก็ตื่นขึ้นด้วยความระมัดระวังภัยโดยสวดมนต์ภาวนา ทำสมาธิแผ่เมตตา  แก่บรรดาสรรพสัตว์ผู้ร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทั้งหลายร่วมโลก เจ้ากาเหว่ามันก็รู้สึกถึงกระแสแห่งเมตตาจิตนั้นด้วยเหมือนกันโดยปัญญาญาณว่าพระธุดงค์องค์นี้ไม่มีเวรมีภัยแก่ผู้ใด  ทั้งยังแผ่จิตเมตตาแก่บรรดาสัตว์ด้วย
     คร้ันรุ่งอรุณแสงทองส่องฟ้า  พระอาทิตย์ส่องรัศมีมีสีนวลสว่างขึ้นมาทางทิศบูรพาทิศ  ยังไม่เห็นแสงอาทิตย์  แต่ก็มีแสงสีสว่างฟ้าด้วยสีอันสวยงามตา เจ้านกกาเหว่าก็เริ่มขึ้นว่า 
     "กาเหว่า - กาเว้า - กาเวิ้ว"
     เมื่อร้องเตือนเพื่อนสัตว์ในพงไพร  ให้ตื่นขึ้นจากรวงรัง เตรียมตัวออกหากินกันต่อไป  สัตว์ทั้งหลายเมื่อได้ยินเสียงของกาเหว่าร้องเตือนเป็นการบอกเวลาตื่นขึ้นมาหากินก็พากันขยับตัวขยับปีกที่ขยันก็เริ่มโผผินบินออกจากรังไปหากิน
     พระธุดงค์เมื่อได้ยินเสียงของนกกาเหว่าร้องเตือนรุ่งอรุณก็ลุกขึ้นสวดมนต์ภาวนาทำสมาธิอันเป็นกิจวัตร   พลางก็แผ่เมตตาจิตให้แก่บรรดาสรรพสัตว์ร่วมเกิดแก่เจ็บตาย
     นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า  บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายทั่้งปวงในโลกนี้ ล้วนแต่เกิดมาเป็นเพื่อนร่วมโลก ร่วมชีวิต ร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น  จึงไม่ควรจะเบียดเบียนทำร้ายมีภัยมีเวรแก่กันและกันเลย 
๐๐๐๐๐๐๐๐

วันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

นิทานธรรมดาโลก (๑๑)


๓๒.คางคกขึ้นวอ

     ในกาลคร้้งหนึ่ง  ยังมีพระราชาองค์หนึ่งได้ขึ้นครองเขตแคว้นแห่งหนึ่งซึ่งประเทศของพระองค์มีอริราชศัตรู  ต้องทำการรบสู้ป้องกันประเทศอยู่ในขณะน้ัน  วันหนึ่งพระองค์ทรงพักผ่อนพระอิริยาบทอยู่ในค่ายหลวงในเวลาใกล้ค่ำ  ทรงได้ยินเสียงอย่างหนึ่งอยู่ในพุ่มไม้ชายป่าใกล้ลำธาร  ทรงสดับเสียงนั้นคล้ายๆเสียงคนกัดฟันกรอดๆ อยู่ตลอดเวลา   จึงทรงเรียกเสนาคนสนิทมาแล้วตรัสถามว่า
     "นั่นเสียงอะไร  เหมือนเสียงคนกัดฟันกรอดๆอยู่  เอ็งรู้ไหม?"
     ฝ่ายเสนาคนนั้นรู้อยู่แก่ใจว่าเสียงนั้นคือเสียงคางคก  มันร้องเรียกหาคู่เพื่อจะสมสู่ก่อนฝนจะตก  ถัาคางคกร้องเหมือนเสียงคนกัดฟันกรอดๆ อย่างนี้  ก็แสดงว่าในไม่ช้าจะมีฝนตก  แต่เสนาคนน้ันเป็นคนหัวประจบ จึงกราบทูลเพื่อให้สบพระอัธยาศัย  เหมาะเจาะแก่เหตุการณ์ที่กำลังอยู่ในระหว่างหน้าศึก  มันจึงเดินไปดูที่ชายป่าใกล้ลำธารแล้วกลับมาทูลว่า 
     "เสียงนั่นคือเสียงสัตว์ชนิดหนึ่ง เรียกว่า คางคก มันได้อาศัยพระบรมโพธิสมภาร ในแผ่นดินของพระองค์มาด้วยความผาสุก  จีงมีความกตัญญูรู้พระคุณ  และมีความจงรักภักดีต่อพระองค์  เมื่อมันรู้ว่ามีอริราชไพรีมันก็มีความโกรธแค้น  มันจึงกัดฟันกรอดๆ อยู่พระเจ้าค่ะ"
     พระราชาได้ฟังก็ตรัสว่า  "เออถ้ากระนั้นก็ต้องตอบแทนคุณงามความดีของมันให้ปรากฎในแผ่นดิน เพื่อจะได้เป็นเยี่ยงอย่างแก่คนทั้งหลาย"
     "จะตอบแทนคุณงามความชอบแก่คางคกได้อย่างไรเล่าพระพุทธเจ้าค่ะ"
     "เอ็งไปทำวอช่อฟ้าหลังคาแดงขึ้นให้เจ้าคุณคางคกนี้นั่ง  ให้มีคนหามวอ ๔ คน คอยหามคางคกให้เข้าเฝ้าในท้องพระโรงเหมือนขุนนางชั้นผุ้ใหญ่"
     ต่อจากนั้น เสนาจึงทำวอขึ้น ให้มีคนหามวอให้คางคกขึ้นนั่งวอ เข้าเฝ้าพระราชาทุกวัน เหมือนดังขุนนางชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่ง  เจ้าคางคกขุนนางก็นั่งชูคางแข็งเข้าวังทุกวัน  อยู่มาวันหนึ่งเกิดอาเพศมีช้างเผือกในโรงพระคชาธารเกิดอาละวาดไล่แทงคนเป็นการใหญ่  ผู้คนจึงหนีกันเป็นอลหม่าน   ช้างเผือกอาละวาดนั้นแล่นมาตามถนนหลวง สวนกับคนหามวอคางคก คนหามวอคางคกตกใจหนี  ทิ้งวอไว้กลางทาง ช้างแล่นมาด้วยกำลังแรง จึงเหยียบกระทืบวอนั้นแตกหักหมด  รวมทั้งเจ้าคางคกขุนนางตัวน้ัน  แหลกเหลวคาตีนช้างเผือกด้วย
     จึงมีคนพูดกันเป็นคติติดปากต่อมาว่า "คางคกขึ้นวอ"   ถ้าเห็นไพรคนใดได้ดี มียศศักดิ์ แล้วลืมตัวหลงยศ เห่อตำแหน่ง  ก็จะพูดเยาะเย้ยเสียดสีว่า "เจ้าคางคกขึ้นวอ"
     นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า เสนาหัวประจบนั้นเองที่เป็นต้นเหตุแห่งความวิบัติอาเพศของเรื่องนี้  เพราะเขากราบทูลให้พระราชาทำอะไรๆไขว้เขวไป  จนถึงขั่นตั้งคางคกให้เป็นขุนนางขึ้นวอหามเข้าวังจนถูกช้างเหยียบตายดังนี้ 

๐๐๐๐๐๐๐๐๐ 

๓๓. กิ้งก่าได้ทอง

     ในกาลคร้ังหนึ่ง ยังมีพระราชาพระองค์หนึ่งเสด็จประพาสไปยังพระราชอุทยาน  ขณะเสด็จผ่านไปชายป่า  ทรงทอดพระเนตรเห็นกิ้งก่าหัวเขียวตัวหนี่ง  ทำหัวหงุบหงับ ก้มๆเงยๆ อยู่  หันหัวมาทางพระราชาด้วย  จึงทรงตรัสถามอำมาตย์ใกล้ชิดว่า
     "ใครรู้บ้างว่าสัตว์น้อยๆตัวนั้น เรียกว่าอะไร ?"
     อำมาตย์ทูลตอบว่า
     "เขาเรียกมันว่า กิ้งก่าพระพุทธเจ้าข้า"
     "มันกำลังทำอะไรอยู่ ?"
     อำมาตย์คนนี้ได้ดีขึ้นมาเพราะรู้จักกราบทูลให้ถูกกาละเทศะเป็นที่สบพระอัธยาศัยอยู่เสมอมา  จึงกราบทูลว่า 
     "เจ้ากิ้งก่าหัวเขียวตัวนี้  ได้อาศัยอยู่ในพระราชอุทยานมาช้านานด้วยความผาสุก  จึงมีความจงรักภักดีด้วยเดชะบารมี  มันเห็นพระองค์เสด็จมามันจึงก้มหัวถวายคำนับพระพุทธเจ้าข้า"
     พระราชาจึงตรัสว่า
     "เจ้าพูดเข้าท่าดี  เอาเถอะถึงจะเท็จจริงอย่างไรใครๆ ก็ได้ยินกันทั่วหน้า  เพราะฉนั้นเราจะตอบแทนความจงรักภักดีของเจ้ากิ้งก่าตัวนี้ ให้ปรากฎแก่ชาวโลก  เพื่อจะได้เตือนใจคนท้ังหลายในแผ่นดินนี้  ให้ทำสร้อยมาคล้องกิ้งก่าตัวเขียวตัวนี้  ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป"
     อำมาตย์จึงจัดการให้เป็นไปตามพระราชโองการนับแต่บัดนั้นมา  เจ้ากิ้งก่าหัวเขียวก็มีสร้อยทองคล้องคออย่างสวยงาม
     วันหนึ่งพระราชาเสด็จไปประพาสพระราชอุทยานอีกเหมือนเคย แต่คราวนี้เจ้ากิ้งก่าหัวเขียวมีสร้อยทองคล้องคอตัวนั้น  มันเกาะต้นไม้ชูหัวนิ่งอยู่เฉยๆ  ไม่ผงกหัวถวายคำนับพระราชาเหมือนอย่างเคย 
     พระราชาจึงตรัสถามอำมาตย์หัวประจบว่า  "วันนี้เหตุใดเจ้ากิ้งก่าหัวเขียวตัวนี้  มันจึงเกาะกิ่งไม้นิ่งเฉยอยู่นั่น  ไหนเจ้าว่ามันมีความกตัญญุต่อเราอย่างไรเล่า ?"
     ฝ่ายอำมาตย์หัวประจบนั้นย่อมมีความคิดอันว่องไว และสามารถกราบทูลเอาตัวรอดได้ทุกเรื่อง  จึงได้กราบทูลว่า 
     "เจ้ากิ้งก่าหัวเขียวตัวนี้ ตั้งแต่ได้ทองมาคล้องคอ มียศศักดิ์สูงขึ้นก็ลืมตัว หลงยศ ผู้ใหญ่ใครผ่านมาก็ไม่คำนับเหมือนแต่ก่อน มันจีงไม่คำนับพระองค์วันนี้  เป็นพยานหลักฐานเห็นอยู่แต่พระเนตร พระกรรณ  พระพุทธเจ้าข้า"
     พระราชาได้ทรงฟังก็ตรัสว่า
     "เสนาอำมาตย์ที่ได้ดีมียศแล้ว   กลับทรยศต่อแผ่นดินจะทำอย่างไรเล่า?"
     "ต้องถอดยศ พระพุทธเจ้าข้า"
     "ถ้ากิ้งก่าได้ทองคล้องคอ  มียศศักดิ์แล้วกลับเนรคุณอย่างนี้ควรจะทำอย่างไร?"
     "ต้องริบทอง ถอดยศเสียพระพุทธเจ้าข้า"
     "ข้าเคยสั่งให้เจ้าทำทองคล้องคอกิ้งก่า  เพราะเจ้าบอกเราว่ากิ้งก่ามีความจงรักภักดี   บัดนี้เจ้าบอกว่า เจ้ากิ้งก่าอกตัญญู  เจ้าก็จงถอดทองคล้องคอกิ้งก่าออกมาเสียด้วย"
    อำมาตย์หัวประจบจึงไปจับกิ้งก่าถอดทองคล้องคอกิ้งก่ากลับคืนมา  แล้วไล่กิ้งก่าหัวเขียวมิให้อาศัยอยู่ในพระราชอุทยานต่อไปด้วย  แล้วพูดว่า กิ้งก่าได้ทองคล้องคอแล้วทำคอแข็ง  จึงต้องถอดสร้อยทองออกเหมือนขุนนางเห่อยศ  ลืมตัว ย่อมจะเสือมจากยศ
     นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า กิ้งก่าได้ทองและถูกถอดทองออกจากคอ  เพราะปากสอพลอของอำมาตย์สอพลอแท้ๆ
๐๐๐๐๐๐๐๐๐


๓๔. นกต่อ 
     
     นกเขาตัวหนึ่่ง   มันเติบโตขึ้นมาในป่าจนเป็นนกหนุ่มตัวโต  ปีกขาแข็งแรง ที่พิเศษก็คือ มีคารมดี เสียงดี มันจับยอดไม้ส่งเสียงขันก้องอยู่ในป่าแห่งนั้น  บรรดานกอื่นครั้นได้ยินเสียงมันใหญ่ดังกังวานก้องป่า  ก็ไม่มีนกหนุ่มตัวไหนจะขันแข่งสู้  ต่างก็เงียบเสียงลง  ยังมีนกเขาแก่ตัวหนึ่ง  เคยส่งเสียงขันข่มนกในป่ามาก่อน  จนได้เป็นหัวหน้านกเขาใหญ่ในป่ามาแต่เดิม  ครั้นได้ยินเสียงนกหนุ่มมาส่งเสียงขันอยู่ก็มีความโกรธ  บินโลดขึ้นสู่เวหาอวดพละกำลัง แล้วบินเหิรมาเกาะอยู่คนละพุ่มไม้ส่งเสียงเตือนให้นกหนุ่มรู้ว่า มันเคยเป็นเจ้าป่านี้อยู่ก่อน   แต่เจ้านกหนุ่มมันส่งเสียงขันท้าป่ามาหลายวันแล้ว ไม่มีนกเขาตัวใดขันสู้  วันนี้นกขันสู้ ถึงเสียงน้ันจะดัง  ก็หาได้ดังกังวาลก้องป่าดังเสียงของมันไม่   แม้แต่เสียงลงท้ายก็มี ๒ กุ๊กว่า "จู้ฮุกกรู้  กุ๊ก กุ๊ก"  เท่านั้น แต่เจ้านกหนุ่มขันได้เก่งกว่า  คือมันขันว่า "จู้ฮุกกรู้ กุ๊ก กุ๊ก กุ๊ก"  มันลงท้าย ๓ กุ๊ก มันจึงส่งเสียงขันท้าทายไปตามสัณชาตญานหนุ่มนักสู้  ฝ่ายเจ้านกเขาแก่ยิ่งมีความโกรธ  ที่มีเจ้านกเขาตัวใหม่มาแย่งความเป็นเจ้าป่าของมัน  นกแก่จึงบินขึ้นไปเพื่ออวดพละกำลังอีกครั้งหนึ่ง  เสียงกระพือปีกพึบๆของนกเขาแก่  เจ้านกเขาหนุ่มก็จ้องดูอยู่  ครั้นแล้วก็บินมาเกาะพุ่มไม้เดียวกับนกเขาหนุ่ม  ขันไป  ดูไปเป็นเชิงข่มขู่ให้ยอมกลัว  จู้ฮุกกรุ้  จู้ฮุกกรู  ขยับใกล้เข้ามาทุกที เจ้านกหนุ่มก็ขันสู้  จู้ฮูกกรู้ จู้ฮุกกรู้  จนกระทั่งนกเขาแก่ใกล้เข้ามาถึงตัว  แล้วเข้าตีด้วยปีกเข้าจิกด้วยปาก  นกเขาหนุ่มก็ไม่หนี  ได้ตีปีกสู้  จิกด้วยปากสู้  อยู่สักพักหนึ่งเพราะเหตุที่นกแก่มันบินเหิรฟ้าถึงสองหน  และกำลังโกรธจัดเสียพละกำลังไปมาก  จึงแพ้นกหนุ่ม  เมื่อสู้ไม่ได้แล้วมันก็บินหนีไปอยู่ป่าอื่น
     นับแต่วันนั้นมา เจ้านกหนุ่มเสียงก้องขันสามกุ๊ก ก็ได้เป็นเจ้าป่าแทน มันส่งเสียงขันท้าทายข่มป่าอยู่ทุกเช้า เย็น  เสียง จู้ฮุกกรู้ กุ๊ก กุ๊ก กุ๊ก   นกอื่นในป่าได้แต่เงียบเสียงคอยฟังแต่เสียงมัน  หามีนกตัวใดเข้ามาแข่งขันสํู้มันได้ไม่ มันก็ผยองในความเป็นเจ้าป่าของมัน  ส่งเสียงขันข่มป่าอยู่บนยอดไม้ทกวัน
     วันหนึ่งมีชายนักต่อนกเขาคนหนึ่ง  เข้าต่อนกเขาในป่า  เอานกต่อใส่พะเนียดมา ครั้นได้ยินนกเขาใหญ่เสียงดีขันสามกุ๊กอยู่บนยอดไม้สูง   จึงแอบเอาพะเนียดขึ้นไปติดตั้งไว้บนกิ่งไม้ ดีดมือไว้นกเขาต่อส่งเสียง ขันว่า จู้ฮุกกรู้ กุ๊ก กุ๊ก  เป็นเสียงขันท้านกป่าขึ้น 
     เจ้านกเขาหนุ่มเจ้าป่าสามกุ๊ก  คร้ันได้ยินเสียงนกเขาตัวใหม่มาส่งเสียงขันอยู่พุ่มไม้เดียวกันก็โกรธว่ามีเจ้านกเขาจากป่าไหนมาส่งเสียงขันท้าถึงถิ่นนี้   มันจึงส่งเสียงขันสู้  ขันโต้ตอบกันอยู่นาน  เจ้านกตัวใหม่ก็ไม่เห็นว่าจะบินตามมาตีกันหรือไม่เห็นบินเหิรฟ้าแสดงพละกำลังแต่อย่างใด  มันจึงเป็นฝ่ายบินเหิรฟ้าเสียเองเพื่ออวดพลัง  แล้วก็ส่งเสียงขันท้าทายต่อไป  เจ้านกต่อในพะเนียดก็ขันโต้ตอบอยู่เรื่อยๆ ไม่ยอมกลัวไม่ยอมหยุด  เจ้านกหนุ่มเจ้าป่าจึงปีนขยับใกล้เข้ามาทุกที  จนถึงพะเนียด  แต่มันก็แปลกใจที่เห็นนกต่อเกาะคอนนิ่งอยู่ในพะเนียด  มันทำท่าเหมือนไม่ยอมออกจากพุ่มไม้หนาออกมาสู้  เจ้านกหนุ่มจึงขยับเข้าไปถึงตัวนกต่อเพื่อจะตีปีก จิกตีให้หนีไป  ทันใดนั้นพะเนียดก็ลัดเพียะ  ตาข่ายพะเนียดก็คลุมครอบเจ้านกเขาป่าไว้ดิ้นไม่หลุด คนต่อนกก็ถอดเสาพะเนียด ออกจากพุ่มไม้  จับเอานกเขาป่าคารมดีไปบ้าน
     นิทานเรื่องนี้ สอนให้รู้ว่า นกเขาต่อที่คนเขาเอาไปเลี้ยงไว้น้้นเองมาล่อให้นกป่าติดพะเนียด  จึงเป็นอันว่านกเขาด้วยกันนั้นแหละที่มาล่อหลอกนกป่าให้ติดพะเนียด  เหมือนชายหนุ่มหน้าโง่บางคนที่หลงกลนางนกต่อที่เขาเอามาล่อให้ติดกับ  ล้วงเอาทรัพย์และความลับหรือเอาความเป็นโสดเป็นอิสระภาพไปได้  บางทีก็เอาชีวิตเสียด้วยก็มี 
๐๐๐๐๐๐๐๐
     


วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

นิทานธรรมดาโลก (๑๐)


๒๙. แม่กาเหว่าไข่ให้แม่กาฟัก


     กาเหว่าคู่หนึ่ง  มันทำรังอยู่บนกิ่งไม้  มันมีเพื่อนบ้านเป็นแม่กาคู่หนึ่ง  ทำรังอยู่ไม่ไกลนัก  เมื่อแม่กาเหว่าออกไข่ไว้ในรังแล้ว  มันออกไปหากินทีไร กาเพื่อนบ้านของมันก็จะมาลักเอาไข่ไปกิน  อยู่เสมอมา  เมื่อกาเหว่าถามว่า เห็นไข่ของมันบ้างไหม  กาก็ตอบอย่างยิ้มแย้ม ลอยหน้าลอยตาว่า
     "เปล่า เปล่า เราไม่เห็น  เราไม่ได้ขโมย"
     วันหลังต่อมา  เมื่อแม่กาเหว่าออกไข่  มันจึงต้องให้กาเหว่าตัวผู้เฝ้ารังไว้แล้วออกไปหากิน เมื่อกาเหว่าตัวผู้กลับมาจากป่า  แม่กาเหว่าจึงออกไปหากิน ต้องผลัดเฝ้าไข่อยู่เสมอมา
     วันหนึ่งกาเหว่าผัวเมียก็ปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรดี   จึงจะแก้ไขให้ไข่ของเราปลอดภัยจากกาใจร้ายได้
     ในที่สุดมันก็คิดอุบายได้  คือต้องเอาหนามบ่งหนาม  โดยวิธีการอันแนบเนียน  รอเมื่อแม่กาออกไปหากินแล้ว ก็ไปออกไข่เพิ่มไว้ในรังของแม่กา แม่กาก็ลืมไปว่าในรังนั้น มันไข่ไว้กี่ฟอง หลงว่าไข่ของตัวเอง   จึงฟักไข่ของกาเหว่าจนออกเป็นนกกาเหว่า ขนของกาเหว่าก็มีสีดำเหมือนลูกกา   แม่กาจึงบินไปหาเหยื่อคาบมาป้อนลูกกาเหว่าจนเติบโต
     เมื่อลูกกาเหว่าเติบโตเต็มที่ ออกสอนบินได้ก็บินไปจากรัง  แม่ พ่อของกาเหว่าก็มาร้องเรียกลูกนกกาเหว่า  บอกให้รู้ว่ามันเป็นกาเหว่า หาใช่กาไม่  ขอให้ไปอยู่ด้วยกันในพวกนกกาเหว่าเถิด  ลูกนกกาเหว่าจึงบินไปอยู่กับพ่อแม่กาเหว่าต่อไป  แม่กาจะเรียกเท่าไรก็ไม่ยอมกลับมาอยู่ด้วย ทิ้งให้แม่กาอยู่กับฝูงกา ส่วนลูกกาเหว่าก็บินไปเข้าฝูงนกกาเหว่าต่อไป  ตามพงศ์พันธ์ุของมันด้วยความเป็นสุข 
     นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า  กาดำย่อมอยู่อย่างกาดำ แต่กาเหว่าย่อมมีนิสัยจิตใจเป็นกาเหว่า  มันย่อมจะไปอยู่กับนกกาเหว่า ไม่ยินดีอยู่กับกา  เหมือนธรรดาคนดีย่อมไม่ยินดีอยู่ในหมู่คนชั่วฉันใดก็ฉันนั้น 
๐๐๐๐๐๐๐๐

๓๐ คนขี่ม้าพยศ

     นายบุญกับนายเดช  เป็นเพื่อนกัน  บ้านนายบุญเลี้ยงวัวไว้ฝูงใหญ่  แต่บ้านนายเดชเลี้ยงม้าไว้คอกหนึ่ง นายเดชคุ้นเคยกับม้ามาตั้งแต่เกิด  จึงขี่ม้าเก่ง  ขึ้นขี่หลังม้าตัวใดก็ยอมให้ขี่โดยดี  จะให้วิ่งเหยาะ  วิ่งสบัดหาง วิ่งเร็ว หรือห้ออย่างไรก็ย่อมได้  ม้าย่อมรู้ใจและตามใจทุกอย่าง 
     เมื่อนายบุญไปบ้านนายเดช อยากขี่ม้าบ้าง  แต่เมื่อนายบุญขึ้นหลังม้าลองขี่ดูบ้าง  ม้าก็กลับพยศ ไม่ยอมให้ขี่ง่ายๆ ทำพยศต่างๆ  ให้นายบุญตกหลังม้าบ่อยๆ   จึงถามนายเดชว่าเหตุใดม้าจึงไม่ยอมให้คนขี่ง่ายๆเหมือนนายเดช
     นายเดชตอบว่า ม้าก็มีหัวใจ  มันรู้ได้ดีว่าคนไหนรักมันหรือไม่  พอมันได้กลิ่น มันเห็นหน้า มันก็รู้ได้ด้วยสัญชาติญาณของมันทันที  ยิ่งพอโดดขึ้นขี่หลัง  ม้ามันก็รู้ได้ทันทีว่าคนขี่นี้เป็นนายของมันหรือไม่  ขี่หลังมันเป็นหรือไม่   ถ้ารู้ว่าไม่ใช่นายมัน มันก็ไม่ค่อยยอมให้ขี่  หรือถ้ารู้โดยท่าทีว่าขี่ม้าไม่เป็น มันก็จะพยศ สลัดให้ตกหลังทันที  ข้อสำคัญมันรู้ว่าใครรักมัน  มันก็จะยอมให้ขี่โดยดี  คนที่ไม่เคยอยู่กับม้าย่อมจะไม่รู้ใจม้า  ม้ามันก็รู้  มันจึงไม่ยอมให้ขี่ ถ้าจะขี่ม้าก็ต้องอยู่กับคอกม้า ต้องเอาใจใส่ให้ข้าว น้ำ อาบน้ำแปรงขนให้มันให้มันชิน มันรู้ว่ารักมันก็จะยอมให้ขึ่โดยดี
     นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า  เป็นนายต้องเอาใจใส่ลูกน้อง ต้องรักลูกน้อง ถ้านายไม่รักลูกน้อง  ลูกน้องก็จะไม่เต็มใจให้บังคับบัญชา ท่านจึงว่าคนจะขึ่ม้าพยศได้ต้องรู้ใจม้า  และต้องรักม้าด้วย  จะบังคับบัญชาลูกน้องได้ดี  ต้องรักและเลี้ยงดูลูกน้อง เหมือนน้องหรือลูกของเรา โบราณจึงเรียกผู้น้อยว่า ลูกน้อง  
๐๐๐๐๐๐๐๐

๓๑ หมาดำกับหมาขาว
     
     หมาดำตัวหนึ่งเป็นหมาบ้านนอก  ติดตามเจ้าของเข้าไปในเมือง พบกับหมาขาวตัวหนึ่ง  หมาขาวจึงร้องทักว่า
     "ไง ดำเจ้าไปไหนหลงมาถึงนี่?"
      "ข้าตามเจ้านายเข้ามาเที่ยวดูบ้านดูเมืองมั่ง"
     "สบายดีหรืออยู่บ้านนอก?"
     "ก็พออยู่พอกินไปวันๆหนึ่ง  แต่ต้องคอยระวังพวกเจ๊กแคะกับพวกญวน"
     "ระวังเรื่องอะไร?"
     "เจ๊กแคะ นี่มันชอบกินหมาดำ  เวลาหน้าหนาวต้องคอยระวังเจ๊กแคะ แต่ต้องระวังพวกญวน  ตลอดทุกฤดูทั้งหน้าหนาว หน้าฝน หน้าแล้ง ทีเดียแหละ"
    "ทำไมล่ะ"
     "มันคอยจับหมาเอาไปแกงกินอยู่เสมอ"
     "แหม อ้ายชาติญวนนี่แย่จริงๆ  มันคงอดอาหารยิ่งกว่าพวกเรา"
     "เอ็งล่ะ  อยู่ในเมืองนี่น่าสุขสบายดีนะ  เอ็งโชคดีได้อยู่ในเมือง"
     "จะว่าดีก็ดีหรอก  อาหารการกินพอหาได้คล่อง  แต่ต้องระวังตัวอยู่  ๒ อย่าง"
     "ระวังอะไรมั่งล่ะ?"
     "ระวังรถยนต์มันจะทับเอาตายอย่างหนี่งละ"
     "ระวังอะไรอีก?"
     "ระวังพวกเทศบาลมันวางยาเบื่อฆ่า  บางทีมันก็ยิงด้วยปืนเงียบ เผลอไม่ได้"
     "แหม เอ็งอยู่ในเมืองนี่ก็มีภัยสองอย่างเหมือนหมาบ้านนอกอย่างข้าเหมือนกัน"
     นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า อยู่บ้านนอกหรืออยู่ในเมืองก็มีภัยอันตรายเหมือนกัน  ชีวิตคนชีวิตหมาก็มีทุกข์ภัยพอๆกัน 
๐๐๐๐๐๐๐๐
(โปรดติดตามตอนต่อไป) 

วันพฤหัสบดีที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

นิทานธรรมดาโลก (๙)


๒๖. อึ่งอ่างพองลม
      คืนวันหนึ่ง  หลังจากฝนตกใหญ่ซาเม็ดลงแล้ว  อึ่งอ่างซึ่งฝังตัวอยู่ในดินขอบสระน้ำก็ออกจากดินขึ้นมาร้องเซ็งแซ่อยู่ริมสระ  กบเขียดส่งเสียงร้องขรมอยู่ในบริเวณน้ำขังรอบสระน้ำด้วยกัน
     ขณะน้ันกบตัวผู้ตัวหนึ่ง  ก็กระโดดไปหากบตัวเมีย  เพื่อหาคู่ผสมพันธ์ุกันตามธรรมดาของสัตว์  เผอิญไปพบอึ่งอ่างตัวหนึ่ง  กำลังร้องอึ่งอ่างครางหาคู่ของมันอยู่เหมือนกัน   ครั้นกบกระโดดเข้าใกล้ อึ่งอ่างก็สูดลมหายใจเข้าปอดเต็มแรงแล้วก็พองตัวโตขึ้นกว่าปกติธรรมดา ๑ เท่าตัว  แต่ถึงกระนั้นตัวอึ่งอ่างก็ยังเล็กกว่ากบตัวโต  ๑ เท่า ครั้นกบเห็นดังนั้นจึงหัวเราะแล้วพูดขึ้นว่า
     "เจ้าอึ่งอ่างเอ๋ย  ถึงเจ้าจะพองตัวจนเต็มที่แล้ว ตัวเจ้าก็ยังเล็กกว่าเราอยู่นั่นเอง  เจ้าจะเบ่งพองลมไปทำไม ข้าไม่นึกหวาดหวั่นเจ้าเลยแม้แต่น้อย"
     เจ้าอึ่งอ่างครั้นได้ยินกบตัวโตพูดสบประมาทดังน้ัน จึงร้องตอบว่า 
     "เจ้ากบโง่  ถึงตัวเจ้าโต  เจ้าก็ยังโง่เง่าอยู่นั่นเอง"
     กบโกรธจึงร้องขู่ถามว่า
     "เจ้าว่าเราโง่ได้อย่างไร  เราฉลาดกว่าเจ้าสักร้อยเท่า"
    " เจ้าจะฉลาดตรงไหนเล่า   เพราะเจ้าหารู้ไม่ว่าเราพองลมด้วยเหตุผลอันใด"
     "ก็พองลมเพื่อว่าจะอวดว่าตัวโตนั่นเอง  ทำไมเราจะไม่รู้สัตว์อื่น ๆเขาก็รู้กันว่าอึ่งอ่างพองลมเพราะอวดเก่งเท่านั้น"
     "สัตว์อะไรอีกละ ที่พูดว่าเราพองตัวเพื่ออวดเก่ง?"
     "สัตว์มนุษย์ไงล่ะ  เราได้ยินเขาพูดกันเสมอๆ ว่าอึ่งอ่างพองลมเพื่ออวดเก่ง  เห็นวัวเดินมาก็พองลมจนท้องแตกตาย"
     "สัตว์มนุษย์ไม่นาจะพูดโง่ๆอย่างน้ัน"
     "ก็จริงไหมล่ะ?"
     "ไม่จริงเลย"
     "งั้นเจ้าพองลม สูดลมเข้าปอดมาก เพื่ออะไรเล่ารึ"
     "เราสูดลมเข้าปอดมากก็เพราะเรารู้สึกกลัว  เราจึงสูดลมเข้าปอดให้มากที่สุดเพื่อทำใจให้เข้มแข็ง  แล้วไม่หวาดกลัวภัย"
     "แล้วได้ผลเป็นอย่างไร?"
     "ก็ได้ผลดีมาก  คือใจเราก็เป็นปกติ  ไม่วิตกหวาดหวั่นภัยอันตรายจนต้องกระโดดหนีภัย  เหมือนสัตว์ประเภทกบอย่างท่าน  ในเวลาเดียวกันสัตว์ที่อ้าปากจะกลืนกินเรา  ก็ขบเราไม่ลงเพราะผิวหนังเราเมื่อลมเข้าไปอยู่ในท้องมากๆ  ก็พองเหมือนลูกโป่ง และมีความลื่นคาบเราไปไม่ได้  เราก็ปลอดภัยจากสัตว์ที่จะกลืนกินเรา เช่น งู เป็นต้น  จงจำไว้เถิดเจ้าสัตว์โง่ว่าเราพองลมเพื่อความปลอดภัยของเราต่างหาก"
     นิทานเรื่องนี้ สอนให้รู้ว่า ไม่มีใครรู้จิตใจของผู้อื่นดีเท่าตัวเขาเอง  ถ้าหากเราเป็นเช่นเขา เอาใจเราไปใส่ใจเขา  เราจึงจะรู้จักจิตใจของผู้อื่นดีขึ้น 
๐๐๐๐๐๐๐๐

๒๗. หิ่งห้อยส่องแสง
     เย็นวันหนึ่ง ฝนตกใหญ่จนค่ำ  ที่ริมคลองแห่งหนึ่ง มีต้นลำพูขึ้นอยู่ริมฝั่งเป็นแถว  ผีเสื้อตัวหนึ่งบินเที่ยวตอมกลีบดอกไม้  คร้ันถูกฝนก็เกาะนิ่งอยู่ที่ต้นลำพูน้ันจนถึงกลางคืน  คืนน้ันเดือนมืดจึงเห็นแสงสว่างพราวอยู่ตามต้นลำพูนั้นเป็นอันมาก เป็นที่ประหลาดตาไม่เคยพบเห็นมาก่อน  จึงเพ่งมองไปตามแสงที่ส่องสว่างพราวเหล่าน้ัน  ก็เห็นมันเคลื่อนที่ไปมาได้ด้วย  เจ้าผีเสื้อแสนสวยนั้นอัศจรรย์ใจนัก  เมื่อเห็นสัตว์น้อยๆเคลื่อนที่เห็นได้ที่ก้นของมันมีแสงพราวสุกสว่างจับตาเหมือนดังว่าแสงดาวดวงน้อยๆ  ผีเสื้อรำพึงในใจว่าเกิดมาเป็นผีเสื้อแสนสวยอย่างตัวเรา โลกก็ชื่นชมนักหนาว่ามีปีกแสนสวยเหมือนอย่างนางฟ้า  แต่เห็นทีว่าจะต้องพ่ายแพ้แก่เจ้าสัตว์ที่มองเห็นปีกอันแสนสวยของเราก็หาไม่  แต่เจ้าสัตว์ตัวน้อยๆ เหล่านี้กลับมีแสงสีส่องออกมาจากร่างกายเป็นสีนวลสว่างแพรวพราวตายิ่งนัก  ผีเสื้อรู้สึกอิจฉาอยู่ในใจจึงร้องทักไปว่า 
     "ดูก่อน เจ้าสัตว์น้อย ตัวเจ้ามีนามกรว่าอะไรเล่าจึงเที่ยวเร่ร่อนริมดินในยามค่ำคืนเช่นนี้?"
     "อ้อ เราหรือเขาเรียกชื่อเราว่า หิ่งห้อย"
    "เจ้าไปเอาแสงรัศมีอันแพรวพราวนี้มาแต่ไหน?"
     "อ๋อ  แสงสว่างที่ผิวกายของเราน่ะหรือ มันก็เกิดขึ้นมาโดยพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้าบนสวรรค์  เพราะเราต้องหากินในเวลากลางคืน  เราต้องการแสงสว่างส่องทาง  พระผู้เป็นเจ้าทรงสงสารเรา  จึงสร้างแสงให้ ติดตามร่างกายของเราต้ังแต่เกิดจึงไม่ยากอะไรหรอก  เพียงพระผู้เป็นเจ้าเอาธาตุชนิดหนึ่งมาทาไว้  ครั้นกระทบกับอากาศเข้าก็เรืองแสงออกมาได้เอง"
     "แสงนี้มีประโยชน์ใช้ส่องหนทางเท่าน้้นหรือ?"
     "ยังมีคุณประโยชน์อีกอย่างหนึ่งคือเป็นอาวุธป้องกันตัวเราด้วย"
     "แสงสว่างเป็นอาวุธป้องกันตัวได้อย่างไร?"
     "เมื่อสัตว์บางชนิดเห็นแสงเรืองที่ร่างกายเราก็จะตกตะลึงพรึงเพริดเกิดความแปลกประหลาดอัศจรรย์  ไม่กล้าเข้าใกล้ตัวเรา  เราก็หากินได้โดยปลอดภัย"
     "แต่ตัวเราไม่มีอาวุธเหมือนเจ้า  พระผู้เป็นเจ้าทำไมลำเอียงนักเล่า?"
     เจ้าหิ่งห้อยเพ่งมองไปที่ปีกผีเสื้อแสนสวยด้วยความอัศจรรย์ใจ  เมื่อต้องแสงสว่างเรืองจากหิ่งห้อย ก็ยิ่งแลดูพร้อย งดงามตาเหมือนดังว่าสัตว์จากโลกทิพย์ จึงพูดว่า 
     "ถ้าจะวาพระผู้เป็นเจ้าลำเอียงก็ลำเอียงจริง  เพราะพระเจ้าให้สีสันสวยสดงดงามแก่ร่างกายเจ้า  มองดูแล้วน่าเพลิดเพลินเจริญใจนักหนา   ส่วนเราสิท่านให้มาแต่แสงสว่างนวลพราวอย่างเดียวเท่าน้ัน  ถ้าหาพระผู้เป็นเจ้าสร้างให้เรามีแสงเขียว  แดง เหลือง ดำ ขาว อย่างเจ้าบ้าง  เราจะดีใจเหลือเกิน"
     ส่วนงูเขียวหางไหม้ที่เกาะนิ่งอยู่ที่กิ่งต้นลำพูน้้น  เพ่งมองดูหิ่งห้อยและผีเสื้อแสนสวย ก็นิ่งตะลึงอยู่  จนไม่รู้สึกอยากจะฉกกัดกินทั้งหิ่งห้อยและผีเสื้อแสนสวยน้ันเลย
      นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า  แสงสว่างแพรวพราวและสีอันสดสวย นอกจากประดับโลกให้สวยงามแล้ว  ยังเป็นอาวุธป้องกันตัวเองได้ด้วย  พระเจ้าสร้างสัตว์มาให้เป็นประโยชน์ตนและประโยชน์แก่โลกด้วยเสมอ  เว้นแต่สัตว์ผู้โง่เขลาไม่รู้จักคุณค่าของตัวเองเท่าน้ัน 
๐๐๐๐๐๐๐๐


๒๘. นกยูงรำแพนหาง
     มีพฤกษเทวาองค์หนึ่ง  อาศัยอยู่ที่ต้นไม้ใหญ่ในป่าสูง  วันหนึ่งมีเทวดาองค์ใหม่จุติมาเกิดเป็นพฤกษเทวดา  เทวดาองค์ก่อนจึงพาเทวดาใหม่เดินเที่ยวชมไพร  ก็แลเห็นนกยูงตัวหนึ่งชื่อ โมริยะ  อาศัยอยู่ในป่าสูงด้วยความสุขเกษมสำราญ  ไม่มีสัตว์ร้ายหรือสัตว์มนุษย์รบกวนทำลาย   วันหนึ่งมันเดินเล่นอยู่ตามพื้นหญ้าบนเนินเขา ซึงมีต้นไม้ใหญ่น้อย  งอกงามออกดอกสะพรั่งสวยงามตายิ่งนัก  เจ้านกยูงโมริยะมีความประมาท  จึงเผลอตัวเดินไปมิได้ระมัดระวังภัย  ก็พอดีพบหน้าเจ้าสิงโตร้ายยืนเพ่งจ้องอยู่ไม่วางตา
     เจ้านกยูงโมริยะ  ตกใจหยุดชะงักด้วยสัญชาติญาณป้องกันภัย มันจึงรำแพนหางอันสวยงาม  วิจิตรตระการตาด้วยสีสรรค์อันสวยงามยิงนัก  นอกจากมีสีอันสวยสดงดงามแล้ว ลวดลายรำแพนหางยังประกอบด้วยดอกดวงคล้ายกับดวงตาสวรรค์นับด้วยสิบคู่  ดูระยับเหมือนว่าจ้องจับตาเพ่งมาที่ตาสิงโต  จนสิงโตตะลึงอยู่  สบตานกยูงนับสิบๆคู่ก็มิได้กระพริบหลบตาเลย   เจ้าสิงโตตะลึงอยู่ เจ้าสิงโตไม่เคยกลัวสัตว์ใดๆในพงไพรมาก่อนเลย  กลับมากลัวสายตานกยูงอันเพ่งจ้องมาที่แพนหางน้ัน  มันรู้สึกหวาดหวั่่นขึ่้นมาทันทีว่าสัตว์นี้มีสายตามากคู่นักหนา  เพ่งมองมาหากระพริบไม่  มันจึงเบี่ยงหน้าหนีสายตาหลายสิบคู่น้ัน แล้วค่อยย่องเดินไปอย่างไว้ท่านักเลงเจ้าป่า  ปล่อยให้นกยูงโมริยะนั้น ยืนมองดูมันเดินหนีห่างไกลออกไปทุกทีจนลับไม้ออกไป  เจ้านกยูงโมริยะจึงได้ลดแพนหางลงตามปกติ
     เจ้านกยูงโมริยะก็แปลกใจว่าสิงโตหนีตนด้วยกลัวอะไร 
     เมื่อละครชีวิตสัตว์ป่าฉากนี้จบลงแล้ว 
     เทวดาองค์ก่อนก็ถามเทวดาองค์ใหม่ว่า 
     "ท่านแลเห็นอะไร จากนกยูงและสิงโต"
      เทวดาองค์ใหม่ตอบว่า
     "สัตว์ร้ายเช่นสิงโต ก็ตะลึงต่อความงามของนกยูง"
     "เห็นอะไรอีก"
     "เห็นว่าความงามคือความดีก็ป้องกันภัยได้"
     "เห็นอะไรอีก?"
     "เห็นเท่านี้"
     "ยังมีอีกอย่างหนึ่งที่ท่านมองไม่เห็น"
     "คืออะไร"
     "คือสัตว์ทุกตัวล้วนแต่รักตัวกลัวตายเหมือนกันหมด  ไม่เฉพาะแต่นกยูงที่กลัวตาย สิงโตสัตว์ดุร้ายก็กลัวตายเหมือนกัน"
     นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า  ความงามเป็นอำนาจเป็นสง่าราศีทำให้สัตว์อี่นหลงรักและเกรงกลัว  และสัตว์ทุกตัวย่อมรักตัวกลัวตายเหมือนกันหมด 

๐๐๐๐๐๐๐๐ 

วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

นิทานธรรมดาโลก (๘)


๒๓. ผึ้งกับแมลงวัน

        ในกาลคร้ังหนึ่ง  ผึ้งตัวหนึ่งถูกคนเอาควันรมรังผึ้ง  เอารังผึ้งไปเป็นอาหาร  ผึ้งตัวนี้ถูกควันไฟและความร้อน  ปีกขาดตกอยู่ที่พื้นหญ้าใกล้ๆกับอุจจาระสัตว์กองหนึ่ง  มีแมลงวันมาตอมอยู่  จึงได้พบกับแมลงวันแก่ตัวหนึ่ง  ซึ่งกินอาหารจากอุจจาระอิ่มแล้ว  เกาะใบหญ้า ใช้ขาท้ังสองเช็ดถูปากอยู่  
        เมื่อแมลงวันแก่เห็นผึ้ง  จึงร้องทักว่า 
        "อ้าว  ผึ้งวันนี้ท่านไม่ไปหาอาหารกินหรือ เหตุไฉนจึงมาเกาะนิ่งอยู่ที่ต้นไม้อันเขียวขจีอยู่เฉยๆเล่า ?"
        "อ๋อ  แมลงวัน  เราถูกคนรมควันรมไฟ  ปีกของเราขาด บินไปไม่ได้เราจึงต้องเกาะนิ่งๆ  อยู่ดังนี้  ท่านเล่าไม่ไปหาอาหารกินหรือ ?"
        "อาหารเราก็อยู่ที่พื้นหญ้านั่น  ไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหนให้เหนื่อยยากลำบากกาย  สัตว์น้อยใหญ่ย่อมถ่ายมูลกองไว้ให้เรากินอย่างสบาย   อาหารมีอยู่อย่างฟุ่มเฟือยเหลือเกินตลอดวันตลอดชีวิต ไม่มีหมดวันหมดสิ้น ตราบใดที่สัตว์น้อยใหญ่ยังถ่ายมูลทิ้งไว้ให้เรา"
        "อาหารของเรา  เกิดมีอยู่ตามธรรมชาติ บนยอดไม้บนดอกไม้นานาพันธ์ุในพงพีทุกก้านดอกย่อมมีเกสรน้ำหวานอันเอร็ดอร่อย   เราก็บินไปดูดกินจนอิ่ม  แล้วอมใส่ปากไปรวงรัง   เพื่อสร้างรวงรังของเราอีกด้วย  อาหารคือน้ำหวานจากเกสรดอกไม้นี้  ไม่มีวันหมดสิ้นเลยมีอยู่ตลอดวันตลอดชีวิตตราบใดที่ยังมีต้นไม้และดอกไม้"ฃ
        "อ๋อ ผึ้งอย่างท่านนี้  กินน้ำหวานจากดอกไม้แล้วยังขนเอาไปเลี้ยงลูกอ่อนด้วยหรือ"
        "ใช่แล้ว  เราต้องสะสมอาหารไว้เลี้ยงลุกอ่อนด้วย  ส่วนมูลของเรานั้นก็ถ่ายออกมาสร้างเป็นรวงรัง  เป็นตึกราม  เป็นคลังเก็บน้ำหวานขังไว้กินได้ในยามขาดแคลนด้วย  ท่านเล่าเก็บอาหารไว้ที่ไหน  เอาอะไรเลี้ยงลูกอ่อน ?"
        "โอ สบายมาก   พวกเราชาวแมลงวัน  ลูกอ่อนของเราก็ไข่หยอด ไข่วางทิ้งไว้ในกองอุจจาระนั้น  ลูกอ่อนก็อาศัยอยู่ในกองอาหารนั้นเอง  ลูกกินจนเติบโตเป็นแมลงวัน  เป็นการสบายมาก ไม่ต้องไปสร้างรวงรังให้ลำบาก  ไม่ต้องสะสมอาหารไว้กินอะไรอีก  เพราะมันมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ  ส่วนตัวเราก็เที่ยวสัญจรไปไม่ต้องห่วงกังวลอะไรกับรวงรัง  คลังอาหารหรือลูกอ่อน  เราไม่ต้องมีภาระอันหนักอึ้งเหมือนพวกท่าน สบายดีมาก"
        "เราได้ยินคนเขาพูดกันเข้าหูเราบ่อยๆนะว่า  "ขี้เกียจเป็นแมลงวัน ขยันเป็นแมงผึ้ง"  เขาชมเราว่าเป็นสัตว์ขยัน เขาตำหนิพวกท่านว่า  เป็นสัตว์ขี้เกียจ ท่านไม่ได้ยินมั่งเลยหรือ?"
        "เราไม่สนใจหรอก  คำสรรเสริญหรือคำนินทาของสัตว์ใดๆ ที่เรียกว่าคน  เพราะเราเห็นอยู่ตำตาว่าสัตว์คนนั้นขี้เกียจกว่าแมลงวันอย่างเราหลายเท่านัก  ที่ว่าขยันๆนั้น  ขนาดยอดคนขยันก็ยังขยันน้อยกว่าแมลงวันเสียอีกเล่า  สัตว์คนนี้ก็ดีแต่พูดเท่านั้น  ส่วนการทำมาหากินด้วยความขยันหมั่นเพียรนั้น สู้แต่แมลงวันอย่างเราก็ไม่ได้"
        "นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า  สัตว์ตัวน้อยๆเช่นแมลงวันมันก็ตำหนิสัตว์มนุษย์ตัวโตๆว่าขยันน้อยกว่ามันเสียอีก"
๐๐๐๐๐๐๐๐ 


๒๔. แมงหวี่ขี้คุย

        ในกาลวันหนึ่ง  แมงหวี่กับยุงได้พบกันบนผิวกายคนแก่คนหนึ่งซึ่งนั่งอยู่ในฤดูฝนตอนเช้าตรู่วันนั้น  เจ้ายุงก็บินมาเกาะใบหน้าของชายชรา ฝังปลายปากอันแหลมคมของมันลงบนผิวหนังอันหนาและเหี่ยวแห้งของชายชราเพื่อดูดเอาเลือดกินแก้หิว  ส่วนแมงหวี่ก็บินมาเกาะในหูของชายชรา เพื่อดูดกินเลือดจากใบหูแก้ความกระหาย   เมื่อชายชรารู้สีกตัวว่ามีสัตว์ตัวน้อยๆมารบกวน ก็โบกมือปัดไปมาตามใบหน้าและใบหู เจ้าสัตว์ตัวน้อยทั้งคู่ก็บินไปเกาะอยู่บนเส้นผมสีขาวของชายชราชั่วคราว
        เจ้าแมงหวี่เห็นยุงมาเกาะอยู่ใกล้ๆ ก็ร้องทักว่า "อรุณสวัสดิ์เจ้าสัตว์ตัวโตมีนามว่า ยุง  สบายดีดอกหรือ?"
        เจ้ายุงครั้นได้ยินเสียงเล็กๆแหลมๆ ก็คำรามตอบไปว่า "สวัสดีอ้ายน้อง สบายดี เอ็งละ เป็นไงมั่งละอาหารการกิน?"
        "ก็สบายดีอยู่หรอก แต่ชักเริ่มหิวแล้ว  นอนแสบท้องมาทั้งคืนเลย พบมาพบเหยื่อเจ้าสัตว์มนุษย์คนนี้แหละ แต่แหมมันก็หวงเลือดจัง"
        "เนื้อสัตว์มนุษย์ตรงไหน ที่ว่าอร่อยที่สุดล่ะ?"
        "ชอบตรงหู" แมงหวี่ตอบทันที  "ท่านล่ะ?"
        "เราชอบตรงใบหน้า  ตรงแผ่นหลัง เลือดดูดดื่ม่ได้สบายดีมาก เวลาสัตว์มนุษย์นี่นอนหลับเวลากลางคืน"
        "อ๋อ  ท่านนี้ขี้ขลาดนะ  ชอบหากินตอนกลางคืน เวลาเจ้าสัตว์มนุษย์ตัวยักษ์นี้มันเผลอ  ส่วนเรานี้หากินกลางวัน  ตอนเช้าตรู่  กับตอนเย็นๆ เวลาสลัวๆ เราชอบกัดใบหูเจ้ามนุษย์สัตว์นี่มาก"
        "ทำไมท่านจึงชอบกัดกินใบหู?"
        "อ๋อ เหตุผลน่ะหรือ?"  เจ้าแมงหวี่คุยอวดยุง
        "เราตั้งใจจะกลืนหัวเจ้าสัตว์มนุษย์นี่แหละแต่มันติดอยู่ตรงใบหู  กลืนหัวมันไม่ลงก็เลยกัดหูมันก่อน  กัดให้หูมันขาดเสียก่อนแล้วเราจะกลืนหัวมนุษย์ภายหลัง"
        นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า  สัตว์ตัวเล็กก็ยิ่งคุยใหญ่คุยโต  เป็นธรรดาอย่าได้สงสัยเลย ถ้าได้ยินใครคุยอวดใหญ่ก็ให้เข้าใจว่าเพราะเขาเล็ก  ถ้าได้ยินใครอวดมั่งมีก็ให้เข้าใจได้ทันทีว่าเขาจน ถ้าได้ยินใครคุยอวดรู้อวดฉลาด  ก็จงเข้าใจเถิดว่าเขาโง่  ไม่รู้อะไรนักหรอก
๐๐๐๐๐๐๐๐

       
๒๕. กิ้งกือกับตะขาบ 

        กิ้งกือกับตะขาบ  แต่ปางบรรพ์  เมื่อสร้างโลกนั้นเป็นพี่น้องฝาแฝดกัน ต่อมาก็ไปเรียนวิชาจากสำนักพระอาจารย์องค์เดียวกันในป่าหิมพานต์  แต่พี่น้องคู่นี้มีอุปนิสัยสันดานแตกต่างกันในการรักษาตัวให้อยู่รอดปลอดภัย 
       ตะขาบนั้นคิดว่าการจะรักษาตัวให้อยู่รอดปลอดภัยจากศัตรูนั้น จำเป็นจะต้องป้องกันตัวเองด้วยการมีพิษไว้ป้องกันตัว   ขอให้พระอาจารย์ประสิทธิประสาทวิทยาให้   พระอาจารย์ผู้รู้แจ้งอัธยาศัยของศิษย์ว่าจะต้องสอนวิชาและประสิทธิ์วิชาให้ตามแต่อุปนิสัยสันดานของสัตว์จึงจะได้ผลดี   พระอาจารย์จึงประสิทธิประสาทให้ตะขาบมีพิษที่เขี้ยว  เวลามีศัตรูมาทำอันตรายก็ให้ใช้เขี้ยวขบกัดให้ศัตรุเจ็บปวดจนต้องปล่อยตัวไป   ให้อยู่รอดปลอดภัยจากอันตรายที่จะมาถึงตัว 
        ส่วนเจ้ากิ้งกือนั้น เป็นสัตว์ที่มีเมตตาจิต  แม้แต่ศัตรูที่จะทำอันตรายตนก็ไม่ประสงค์ที่จะทำอันตรายตอบ  จึงขอให้อาจารย์บอกวิธีต่อสู้ศัตรูให้โดยไม่กัดทำอันตรายศัตรู  พระอาจารย์บอกให้ยอมแพ้เสีย  คือนิ่งเฉยเสีย ทำเหมือนว่าตายแล้ว ยอมแพ้ทุกอย่าง ศัตรูก็จะไม่ทำอันตรายเหมือนกัน  เพราะเป็นธรรมชาติของสัตว์จำนวนมาก  ไม่ทำอันตรายต่อสัตว์ที่ไม่ทำอันตรายตน  สัตว์ท้ังสองชนิดนี้จึงดำเนินชีวิตตามอุปนิสัยสันดาน  และวิทยาการที่พระอาจารย์ประสิทธิให้สืบมา
        ตะขาบนั้นแม้มีสัตว์ใดมาต้องตัว มันก็จะขบกัด เอาจนเจ็บปวดด้วยน้ำลายของมัน  แล้วต้องปล่อยตัวมันไปทันที มันจึงมีชีวิตอยู่สืบพืชพันธ์ต่อมา
        กิ้งกือน้ันเวลามีสัตว์ใดมาต้องตัวมัน  มันจะหยุดนิ่งและม้วนตัวกลมแน่น  ทำประหนึ่งว่าตายแล้ว สัตว์ที่ถูกต้องตัวมันก็จะปล่อยตัวมันให้อยู่รอดปลอดภัย  สืบพืชพันธ์คู่โลกธาตุสืบต่อมาจนทุกวันนี้ 
        แต่เป็นที่สังเกตุของลิง ซึ่งมีชีวิตปะปนอยู่กับทั้งกิ้งกือและตะขาบ
        ลิงตัวหนึ่งพูดว่า "ตะขาบนี้ มันมีพิษภัยแตะต้องตัวมันเข้าไม่ได้  มันกัดเราเจ็บปวดนัก  มันจึงรักษาตัวมันอยู่รอด ไม่มีสัตว์อะไร กล้ำกรายมาทำอันตรายมันได้เลย"
        ลิงแก่ตัวหนึ่งได้สังเกตุความประพฤติของตะขาบมาช้านาน จึงพูดว่า "เพราะตะขาบมีพิษที่เขี้ยว ไว้กัดสัตว์อื่นเพื่อป้องกันตัวนี้แหละตะขาบรอดตัวมาได้ก็จริง   แต่มีเวรภัยจากสัตว์ใหญ่ ๒ประเภท ประเภทหนึ่งคือ ช้าง ย่อมกระทืบตะขาบตายคาตืนอยู่เสมอ  เพราะตะขาบไปกัดช้างเข้าจนมันรำคาญ สัตว์ใหญ่อีกประเภทหนึ่งคือมนุษย์ ย่อมเอาไม้มาตีตะขาบตายอยู่เนืองๆ   เพราะตะขาบไปกัดเอาสัตว์มนุษย์เข้า  ส่วนกิ้งกือนั้นเราไม่เห็นช้างเหยียบกิ้งกือตายเลย  สัตว์มนุษย์ก็ไม่ทุบตีกิ้งกือเลย  เพราะไม่มีเวรภัยแก่สัตว์อื่นๆ"
       นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า การป้องกันภัยตัวเราน้ัน ถ้าไม่ทำอันตรายต่อสัตว์อื่น  ก็ย่อมจะไม่มีเวรภัยแก่ตัวเอง  ถ้าไปทำอันตรายแก่สัตว์อื่นก็ย่อมจะมีเวรภัยแก่ตนเอง 

๐๐๐๐๐๐๐๐ 
(โปรดติดตามตอนต่อไป)