วันพฤหัสบดีที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2558

นิทานธรรมดาโลก (๕)



๑๓. ปากร้ายเพราะใจโง่

     สุนัขตัวหนึ่ง  มันเห็นเจ้าของบ้านตากเนื้อไว้บนหลังคา   มันก็นึกอยากกินจนน้ำลายไหล  แต่มันก็ปืนขึ้นไปไม่ถึง  มันจึงได้แต่นั่งมองนอนมองอยู่ 
     ขณะน้ันมันเห็นกาตัวหนี่งบินมาคาบเอาเนื้อชิ้นหนึ่งบินไป มันจึงวิ่งตามไป ส่วนกาได้ชิ้นเนื้อแล้ว  ก็บินไปเกาะกิ่งไม้ใหญ่อยู่  เตรียมจะจิกกินก้อนเนื้อน้ันเป็นอาหาร 
     สุนัขมันจึงร้องด่ากาไปว่า "กาดำ - กาดำ - กาดำ"
    กาได้ยินเสียงสุนัขร้องด่าก็โกรธ  จึงร้องด่าสุนัขว่า "หมาบ้า"
    ขณะน้ันชิ้นเนื้อก็หลุดจากปากกาลงสู่พื้นดิน  ก่อนที่สุนัขจะคาบชิ้นเนื้อกิน  ก็ร้องเยาะเย้ยกาว่า  "เจ้ากาดำ นอกจากสีกายเจ้าจะดำแล้ว  ปากเจ้าก็ร้าย ใจเจ้าก็โง่" 
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า  ผู้ที่ปากเปราะเราะร้าย ชอบด่าว่าผู้อื่นน้ัน ทำให้เสื่อมลาภ เสื่อมยศ เสียมิตร มานักต่อนักแล้ว
๐๐๐๐๐๐๐๐


๑๔. บรเพ็ดกับอ้อย

     บรเพ็ดกับอ้อย ขึ้นอยู่ในที่ใกล้เคียงกัน  จึงเป็นเพื่อนกัน แต่บรเพ็ดกับอ้อยย่อมมีธรรมชาติที่แตกต่างกัน บรเพ็ดมีรสขม  อ้อยมีรสหวาน  ต่างก็รู้ธรรมชาติของกันและกันดี  แต่เมื่ออยู่ใกล้เคียงกัน  จึงต่างเห็นอกเห็นใจกัน เข้าใจธรรมชาติที่แตกต่างกัน จึงคบกันเป็นเพื่อน มิได้รังเกียจและตำหนิกันแต่อย่างใด
     วันหนึ่งบรเพ็ดกับอ้อย จีงได้สนทนากัน บรเพ็ดเจ้าปัญหาจึงได้ถามอ้อยขึ้นว่า  เหตุใด  เราจึงอยู่ในที่ใกล้เคียงกัน  กินอาหารอย่างเดียวกัน  สูดอากาศอย่างเดียวกัน รับแสงอาทิตย์ดวงเดียวกัน รับแสงจันทร์ดวงเดียวกัน รับสายลมอย่างเดียวกัน รับสายฝนอย่างเดียวกัน แต่ธรรมชาติแห่งรสชาติของเราจึงแตกต่างกันมากมายเช่นนี้  ท่านทราบหรือไม่ว่า  เราต่างทำบุญทำกรรมสิ่งใดมา  เราจึงเกิดมาในอัตภาพที่แตกต่างกัน  และมีคุณภาพแตกต่างกันเป็นปานนี้
     อ้อยปากหวานจึงได้ตอบบรเพ็ดอย่างอ่อนหวานว่า  เราก็เป็นเพียงพืชล้มลุกชั้นต่ำหามีปัญญาตรัสรู้ถึงชาติกำเนิดไม่ว่า บุญกรรมได้สร้างเรามาอย่างไร จึงเกิดมามีอัตภาพทีแตกต่างกันเช่นนี้  เราก็ทราบแตเพียงว่า เราเกิดมามีธาตุแห่งความหวานอยู่ในตัวเราแล้วต้ังแต่แรกเกิด  เราจำความได้ว่า  ตั้งแต่อ้อนแต่ออกมา  เราก็มีคุณสมบัติแห่งความหวานอยู่ในตัวเราแล้วตั้งแต่เกิด  เป็นน้ำเชื้ออยู่ในกายเรา  เมื่อเราดูดเอาไอน้ำแห่งดินเข้ามาเป็นอาหารบำรุงเลี้ยงลำต้นของเราไม่ว่าอาหารน้ันจะเป็นธาตุอะไร  ก็ย่อมเปลี่ยนคุณสมบัติเป็นธาตุหวานแห่งน้ำตาลอยู่ในกายของเราจนสิ้น  ความหวานในลำต้นของเราย่อมมีมากขึ้นตามปริมาณแห่งลำต้นของเรา ก็เกิดจากอาหารที่เราดูดมาบำรุงเลี้ยงลำต้นน้ัน ได้เปลี่ยนแปลงคุณสมบัติมาเป็นธาตุหวานตามธาตุเดิมเชื้อเดิมของเราสิ้น  คุณสมบัติแห่งธาตุหวานที่เรามีอยู่นั้นแหละช่วยเปลี่ยนแปลงอาหารและน้ำที่เราดูดกินให้เป็นน้ำตาลไปได้  ส่วนแสงแดดก็เพียงช่วยปรุงอาหาร สายลมก็ช่วยให้เราได้ออกกำลังกาย แสงจันทร์ก็ช่วยเพิ่มพลังการดูดน้ำแก่เราให้มากขึ้น สายฝนก็ช่วยเพิ่มน้ำในดินให้เราดูดอาหารสะดวกขึ้น  แต่ทุกสิ่งทุกอย่างก็ช่วยเป็นปัจจัยเพิ่มความหวานให้แก่เราทั้งทางตรงและทางอ้อมทั้งสิ้น  แม้แต่ยามแล้ง  น้ำฝนในดิน ก็ยังช่วยความหวานในลำต้นของเรามีความเข้มข้นขึ้นทางอ้อม 
     บรเพ็ดได้ฟัง  ก็นิ่งตรึกตรองอยู่ครู่หนึ่ง  แล้วจึงกล่าวว่า ท่านเข้าใจกล่าวให้เราฟังจนเกิดปัญญาขึ้น ถ้าเช่นน้ันก็หมายความว่า เรามีธาตุขมอยู่ในลำต้น  อาหารที่เราดูดขึ้นมาบำรุงเลี้ยงลำต้นก็ถูกเปลี่ยยนแปลงคุณสมบัติให้เป็นความขมตามธาตุเนื้อเดิมในร่างกายของเราเช่นน้ันหรือ 
     อ้อยกล่าวว่า เราเข้าใจว่าท่านพูดถูกแล้ว  
     บรเพ็ดกล่าวว่า  เราเสียใจนักที่ธรรมชาติไม่ได้สร้างเกิดมามีรสหวานเหมือนท่าน  
     อ้อยตอบว่า  ท่านอย่าได้เสียใจเลย ธรรมชาติย่อมสร้างพืชทุกชนิดให้มีความเหมาะสมที่สุด  ที่จะเป็นคุณประโยชน์แก่ตนและแก่โลกทุกชนิดไป 
     บรเพ็ดกล่าวว่า  เราปรารถนาจะฟังถ้อยคำอันเป็นมธุรสวาจาของท่านเพื่อปลอบใจเรา
     อ้อยกล่าวว่า เราพูดนี้มิได้ปรารถนาจะปลอบใจท่านด้วยความหวาน อันเป็นเท็จ  แต่เรากล่าวคำจริง ถ้าคำจริงนั้นถูกหูถูกใจท่าน  มันก็จะเป็นมธุรสวาจา เราก็มีความยินดีที่คำสัตย์จริงของเรากลายเป็นมธุรสวาจาไปด้วย  คือธาตุหวานของเราก็ดี ธาตุขมของท่านก็ดี ธาตุเผ็ดของพริกไทยก็ดี  ธาตุเปรี้ยวของส้มก็ดี ล้วนแต่เป็นคุณประโยชน์แก่พืชนั้นๆ ทั้งสิ้น  ในเวลาเดียวกันก็เป็นคุณประโยชน์แก่โลกด้วย ธาตุหวานของเราก็ย่อมบำรุงเลี้ยงเราให้เจริญเติบโต และในเวลาเดียวกันก็ย่อมเป็นอาหารแก่สัตว์โลก การที่เราต้องเป็นอาหารแก่สัตว์โลกน้ันท่านอาจคิดว่าเป็นโทษ  คือ เป็นความทุกข์ทรมานก็จริงอยู่  แต่ในเวลาเดียวกันก็ย่อมเป็นการรักษาพงศ์พันธ์ุของเราให้คงอยู่ในโลกต่อไป  เพราะสัตว์โลกย่อมเอาเราไปปลูกเลี้ยงไว้มิให้สูญพันธุ์   ถึงตัวท่านก็เหมือนกัน ธาตุขมของท่านนั้น ย่อมบำรุงเลี้ยงลำต้นของท่านให้เจริญเติบโตต่อไป  ในเวลาเดียวกันก็ย่อมจะเป็นยารักษาโรคของชาวบ้านด้วย นี่คือประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน การที่ความขมของท่านเป็นยารักษาโรคได้  เขาย่อมบำรุงเลี้ยงท่านไว้มิให้สูญพันธุ์ไปจากโลกด้วย  หมายความว่าธาตุหวานของเราก็เท่าเทียมกันกับธาตุขมของท่าน มิได้น้อยหน้ากันเลย 
     บรเพ็ดพูดว่า  นี่แหละเขาว่า  น้ำตาลปากหวาน  คำพูดของท่านหวานหูเรานัก  แต่เราก็ยังอิจฉาท่านอยู่ว่า  พืชพันธุ์ของท่านแพร่หลายไปในโลกกว้างขวางนัก  เพราะธาตุหวานของท่านที่มนุษย์สัตว์ชอบนี้เอง ส่วนธาตุขมของเรานั้น มนุษย์สัตว์ไม่ใคร่ชอบนัก พืชพันธุ์ของเราจึงมิใคร่แพร่หลายกว้างขวางเท่าไรเลย
    อ้อยตอบว่า  การที่พืชพันธุ์ว่านเครือของเราแพร่หลายไปมากนั้นก็ต้องพบกับการฆ่าการบีบคั้น  เป็นความทุกข์ทรมานมากขึ้นตามส่วนเหมือนกัน  ทำไมท่านไม่มองในเวลาที่เรามีทุกข์ทรมานบ้างเล่า  แล้วท่านไม่เคยได้ยินบ้างหรือว่าเขากล่าวกันว่า  "หวานเป็นลมขมเป็นยา"  ธาตุหวานของเราเป็นอาหารก็จริงอยู่  แต่ถ้ามีอยู่ในโลหิตมนุษย์มากเกินส่วนก็เรียกว่ามีน้ำตาลมาก   ก็เรียกว่ามีน้ำตาลมากจะทำให้เป็นลมได้จริงๆ   เรียกว่าเกิดโรคเพราะความหวาน แต่ความขมของท่านนั้นเป็นยาฟอกโลหิตให้สะอาด  ความขมจึงรักษาโรคได้เรียกว่า ขมเป็นยาเป็นของจำเป็นแก่โลกเท่าๆกับอาหาร
     นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า  ทุกสิ่งในโลกนี้ย่อมมีคุณสมบัติเป็นประโยชน์แก่ตนเองและต่อโลกเสมอเหมือนกันหมด
๐๐๐๐๐๐๐๐   

๑๕ เรือพายแจวถ่อ

     คร้ังหนึ่งเรือพายแจวถ่อ ๔ สหาย  ได้พากันเดินทางไปตามลำน้ำอันกว้างใหญ่แห่งหนึ่ง   เมื่อเริ่มออกเดินทางน้ันทั้ง ๔สหายก็รักใคร่ปรองดองกันดีอยู่  คร้ันเดินทางไปนานเข้า ไกลเข้าก็เริ่มทะเลาะเบาะแว้งระหองระแหงกัน เริ่มด้วยการเกี่ยงงอนและอิจฉาริษายาด่าว่ากระทบกันก่อนถึงขั้นทะเลาะกันรุนแรง 
     ถ่อ  กล่าวว่า   เรือดีแต่อยู่เฉยๆ นั่งนอนสบายกว่าเพื่อน  แต่ตนต้องทำงานหนัก ที่ไหนหนัก หน้าถ่อก็ต้องทำทุกที
     แจว  ก็โกรธ  ว่าตนทำงานมากกว่าคนอื่น  ถ่อก็ดีแต่ค้ำถ่อในที่บางแห่งเท่าน้ัน  แต่แจวต้องทำงานยืนพื้น   พายก็สบายมาก ทำงานเบา  เรือก็นั่งนอนสบาย 
     พาย ก็เคืองว่า ตนก็มีหน้าที่ทำงานในเวลาหนึ่งเช่นเดียวกัน  ส่วนแจว ถ่อ และเรืองานไม่จุกจิกเหมือนพาย
     เรือ  ก็ร้องห้ามว่า  เราจะได้นั่งนอนอยู่เฉยๆ ก็หาไม่  เราต้องมีหน้าที่บรรทุกสัมภาระอันหนักรวมทั้ง ถ่อ แจว พาย ก็ได้อาศัยอยู่บนอกเราทั้งสิ้น  แจว พาย ถ่อ ต่างหากทีทำงานเบากว่าเราเป็นไหนๆ  ถ้าท่านเห็นว่าเราทำงานเบา ก็ให้มาทำหน้าที่แทนเราดูบ้าง
     ถ่อก็ว่าให้เรือมาทำหน้าที่แทนถ่อดูบ้าง ก็คงทำไม่ได้
     แจวว่า  ให้เรือมาทำหน้าที่แทนแจวดูเถิด  ท่านเห็นว่าเพียงไหน แต่เรือก็ไม่มีความสามารถทำได้
     พายก็ว่า ให้แจว ถ่อ และเรือมาทำหน้าที่แทนเราดูเถิด จะเห็นว่าหนักเพียงไหน  แต่ก็ไม่มีใครรับทำ
     เมื่อเรือ ถ่อ แจว พาย  เกิดทะเลาะกันใหญ่ เช่นนี้ พระพายและพระพิรุณก็คิดจะสั่งสอนให้รู้สึกตัวเสียบ้าง  พระพายจึงพัดมาอย่างแรงกล้า พระพิรุณก็ตกหนักทำให้เรือ พาย แจว ถ่อ แตกกระจัดกระจายพลัดพรากจากกันไปคนละทิศละทาง  เรือก็ลอยไปตามยถากรรมทางหนึ่ง แจวก็ลอยไปทางหนึ่ง ถ่อก็ลอยไปทางหนึ่ง  พายก็ลอยไปทางหนึ่ง  
     เมื่อเรือลอยไปใกล้จะจมน้ำตาย  ก็คร่ำครวญว่า  "เราเป็นเรือใหญ่กว่าแจว ถ่อ พาย ก็จริงหนอ แต่ชีวิตเราก็ขาดพวกเขาไม่ได้เลย"
     ถ่อนั้น เมื่อใกล้จะจมน้ำตาย ก็ร้องไห้สงสารตัวเอง กล่าวว่า "ชีวิตเราเกิดมาเพื่ออยู่กับเรือแท้ๆ เมื่อขาดเรือเสียแล้ว  เราก็อยู่ไม่ได้"
     แจวนั้น เมื่อใกล้จะจมน้ำ ก็คร่ำครวญคิดถึงเรือ ร้องว่า  "เรือเป็นมิตรของเราแท้  ชีวิตเราขาดเรือเราก็ตาย"
     พายนั้น ร้องไห้โอดครวญนัก  เมื่อรู้ว่าตัวจะต้องจมน้ำตาย  กล่าวว่า "เรือเป็นคู่ชีวิตของเราชีวิตเราเกิดมาคู่กับเรือ  เมื่อขาดเรือเสียแล้ว  เราก็ต้องตาย"
     เมื่อพระพิรุณได้ทรมานเรือ แจว พาย ถ่อ พอสมควรรู้สีกตัวแล้ว  จึงหยุดตก  พระพายก็ค่อยๆพัดให้เรือ แจว พาย ถ่อ ไปพบกัน  ทั้ง ๔ สหายก็ดีใจนัก   ตรงเข้ากอดกัน  และสาบานว่าต่อจากนี้ เราจะไม่พรากจากกัน  ถ้าใครไม่ทำหน้าที่ของตนคิดเอาใจออกห่างไป ขอให้ผู้นั้นถึงวิบัติ 
     นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า  บุคคลทุกคนที่อยู่ร่วมกันย่อมมีหน้าที่การงาน การงานน้ันย่อมเป็นประโยชน์แก่ตนและเป็นประโยชน์แก่หมู่คณะ เมื่อบุคคลใดไม่ทำหน้าที่ของตน  ตนก็วิบัติ หมู่คณะก็วิบัติไปด้วย  
๐๐๐๐๐๐๐๐

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น