วันเสาร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2558

นิทานธรรมดาโลก (๒๒)


๖๔. ต้นกล้วย  ขอนสัก และลำไม้ไผ่

     ในแม่น้ำแห่งหนึ่ง น้ำไหลเชี่ยวมากและแล้วน้ำอันไหลเชี่ยวนั้นได้พัดพาเอาต้นกล้วย  ขอนไม้สัก  และลำไม้ไผ่มาพบกัน   แล้วจึงไหลลอยตามน้ำไปด้วยกัน 
     ต้นกล้วยลอยไปลำไม้ไผ่จึงร้องถามว่า 
     "ท่านมาแต่ไหน?"
     ต้นไผ่ตอบว่า 
     "เรามาแต่ป่าไผ่ ถูกเขาตัดเอามาใช้ทำแพ"
     แล้วต้นไผ่ก็ถามกล้วยว่า 
     "ท่านมาแต่ไหนเล่า?"
     ต้นกล้วยตอบว่า 
     "เรามาแต่ป่ากล้วย  เราถูกตัดลำต้นของเราทิ้งลอยน้ำมา"
     แล้วลำไผ่ก็ลอยไปปะทะกับเจ้าขอนสัก  จึงร้องทักว่า 
     "ท่านมาแต่ไหน ลำต้นออกใหญ่โต"
     "เรามาแต่ป่าใหญ่  คนเขาตัดเรามาเลื่อยไปใช้ทำเสา  ทำกระดาน"
     ขณะนั้นพระแม่คงคานิ่งฟังต้นไม้ทั้งสามสนทนากันก็อุทานออกมาว่า 
     "ต้นกล้วยถูกฆ่าเพราะว่าผลของมันเอง  ต้นไผ่ถูกฆ่าเพราะว่าต้นของมันเอง  ต้นสักถูกฆ่าก็เพราะคุณค่าของเนื้อไม้สักเอง"
     นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า   ต้นไม้ในป่าจะอาสัญเพราะลูกผลของมันและลำต้นของมันเอง  เหมือนคนจะอาสัญก็เพราะความดีและความชั่วของตัว พอๆกัน บางทีก็อาสัญเพราะลูกของตัวเอง 

    ๖๕. นกเอี้ยงเลี้ยงควายเฒ่า

     นกเอี้ยงตัวหนึ่งขนสีดำปากเหลือง  หวีผลแปล้บินมาเกาะหลังควายแก่ตัวหนึ่ง  ควายแก่เที่ยวเดินและเล็มหญ้าอยู่ตามทุ่งนา  นกเอี้ยงก็เกาะหลังควายตัวนั้นไปเรื่อยๆ   เด็กเลี้ยงความสองสามคนเห็นนกเอี้ยงเกาะหลังควายก็เข้าใจว่านกเอี้ยงมาเลี้ยงดูควาย  ควายได้กินหญ้ากินข้าวอิ่ม  แต่นกเอี้ยงอดอาหารจนหัวโต  จึงร้องเพลงว่า 
     "นกเอี้ยงมาเลี้ยงความเฒ๋า  ควายกินข้าว นกเอี้ยงหัวโต" 
     นกเอี้ยงเอียงคอฟังเพลงของเด็กเลี้ยงควายแล้วก็หัวเราะพูดขึ้นว่า 
     "เด็กเลี้ยงความเสียเปล่าไม่เข้าใจอะไรเลย   เราจับอยู่บนหลังควายเป็นที่หาอาหาร  เวลามีเหลือบมาเกาะกินหลังควาย  เราก็ได้จิกกินตัวเหลือบ ควายก็พอใจ ไม่ถูกเหลือบกินเลือด  แมลงวัน  ยุง เหลือบบนหลังควายเป็นอาหารของเราได้กินทุกวัน"
     นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า   อย่านึกว่าคนตัวโตๆ หัวโตๆ  จะฉลาดกว่าสัตว์เช่นนกเอื้ยงตัวน้อยๆ   ที่จริงมันฉลาดและขยันหากินยิ่งกว่าคนเสียอีก 

๖๖. แมลงวันหัวเขียว

     แมลงวันหัวเขียวตัวหนึ่ง  ตัวมันโต หัวของมันมีสีเขียวสดใสสวยงาม   มันเที่ยวบินหากินตัวเดียวโดยอิสระเสรี  เมื่อมันได้กลิ่นขนมมันก็บินมาเกาะ  ใช้จงอยปากดูดกินอย่างเอร็ดอร่อย   เมื่อมันพบสัตว์ตายเน่าอยู่  หรือมูลสัตว์กองอยู่  มันก็บินเกาะใช้จงอยปากดูดกินอย่างเอร็ดอร่อยเหมือนกัน 
     วันหนึ่งมันบินไปพบเหลือบตัวหนึ่งกำลังเกาะหลังวัวตัวหนึ่งเพื่อจะดูดกินเลือดของวัว  ส่วนแมลงวันหัวเขียวก็บินไปเกาะหลังวัวเพื่อจะดูดกินน้ำหนองจากแผลเป็นหลังวัวนั้นเหมือนกัน
     เมื่อแมลงวันหัวเขียวเห็นเจ้าเหลือบบินมาเกาะหลัง  เหลือบจึงร้องถามว่า  " เจ้ามากินอะไรบนหลังวัว"
     เหลือบหันมามองแมลงวันหัวเขียว เพ่งมองอยู่ที่หัวเขียวของมันสักครู่แล้วตอบว่า  "เรามาหากินเลือดของวัวน่ะซิ   อาหารของเราคือเลือดสีแดงๆ ของสัตว์ ท่านเล่ากินเลือดเหมือนกันหรือ?"
     "เปล่าหรอก อาหารของเราไม่ใช่เลือดสัตว์  แต่เป็นอาหารใหม่และอาหารเก่าสองอย่างเท่านี้" 
     "อาหารใหม่ของท่านคืออะไร ?"
     "อาหารใหม่คือขนมและน้ำตาลเป็นอาหารสดๆ ใหม่ ๆ ดื่มแล้วชื่นใจมีกำลังวังชาดีนัก"
     "อาหารเก่าเล่ามีอยู่ที่ไหน ?"
     "อาหารเก่าได้แก่มูลสัตว์ที่ถ่ายกองไว้  มันย่อมมีโอชะดื่มกินแก้หิวกระหายได้  อีกอย่างคือน้ำหนองจากแผลของสัตว์  เช่นแผลบนหลังวัวนี่ไงล่ะ  ดื่มกินแล้วก็มีโอชะของอาหารบำรุงร่างกายเหมือนกัน  เพราะมันย่อมประกอบด้วยดินและน้ำเหมือนกัน  มันมีน้ำมันและน้ำตาลเหมือนกัน  แม้เลือดที่ออกจากร่างกายสัตว์ก็เหมือนกัน  แต่เราไม่พอใจที่จะดื่มเลือดสดๆ  จากร่างกายของสัตว์ เพราะปากเราไม่มีเหล็กแหลมแทงเนื้อสัตว์  เราชอบดื่มจากแผลที่เจ้าของเปิดไว้ไม่หวงแหน"
     นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า  แม้แมลงวันหัวเขียวที่คนเราว่าเป็นสัตว์สกปรก  แต่แท้ที่จริงมันเป็นสัตว์สะอาดและฉลาด มีเหตุผลของมันเองเหมือนกัน 

     

วันเสาร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2558

นิทานธรรมดาโลก (๒๑)



๖๑. ไข่เองกะเติ๊กเอง

      ไก่ตัวเมียตัวหนึ่งเจ้าของเลี้ยงไว้กับเป็ดตัวเมียตัวหนึ่ง  จนเติบโตเป็นสาวทั้งคู่  ครั้นถึงเวลาออกไข่แม่ไก่ก็ขึ้นไปออกไข่อยู่บนรังไก่ที่เจ้าของทำไว้  พอไก่ไข่ออกมาแล้วมันก็ลุกขึ้นร้องออกมาว่า
     "กระต๊าก ออกแล้ว  ออกแล้ว  ออกแล้ว"  ส่งเสียงดังลั่นไปทั้งบ้าน แล้วจึงกระโดดลงมาหากินต่อไป
     เมื่อแม่เป็ดพบหน้าแม่ไก่จึงร้องถามว่า 
     "เจ้าส่งเสียงร้องทำไมว่าออกแล้ว ออกแล้ว"
     "ดีใจ"
     "ดีใจทำไม  ดีใจทำไมกับการออกไข่"  แม่เป็ดถาม
      "ดีใจว่าในไม่ช้าเรากกไข่ไม่กี่วันลูกเจี๊ยบก็จะออกมา เราจะได้เป้นแม่ไก่เจี๊ยบน้อยๆ ของเรา เราจะได้พาลูกเจี๊ยบของเราไปคุ้ยเขี่ยหากินแล้วกกเขาให้อบอุ่น  เราก็อบอุ่นด้วย"
     "อ๋อ  ดีใจที่จะได้มีลูกได้กกลูก ได้เลี้ยงลูกใช่ไหม"
     "ใช่แล้ว  เป็นธรรมดาของแม่  ย่อมดีใจที่มีลูก  ได้เห็นหน้าลูก  จึงมีความสุขอย่างแปลกประหลาดที่สุด  ที่มีลูกเป็นของเรา  เราได้เลี้ยงดูเขาเราได้มีเพื่อนชีวิต"
     แม่เป็ดยืนฟังอยู่เงียบๆ 
    "ท่านล่ะ  เวลาไข่ออกมาก็เงียบๆ  ไม่ดีใจมั่งเลย ไม่ตื่นเต้นบ้างเลยหรือ ไม่เห็นส่งเสียงร้องเพลงแสดงความดีใจเลย"
    "เราไม่ตื่นเต้นยินดีอะไร  เราไข่ออกมาแล้วเราก็ไม่ได้กกไข่  เราไม่ได้เลี้้ยงลูกเป็ด  เจ้าของบ้านเขามาเก็บไข่เราไปจนไม่เหลือเลย  เราไม่เคยเห็นหน้าลูกเป็ดเล็กๆ ของเราเลย  เราชินชาเสียแล้ว เราไม่รู้สึกอะไร เราจะตื่นเต้นยินดีเพื่ออะไรกันเล่า"
     นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า  เพราะแม่พ่อได้เลี้ยงลูก  จึงรักลูก แม่จึงดีใจเมื่อลูกเกิดมา  พ่อก็ดีใจที่เห็นหน้าลูกน้อยๆ ทั้งแม่และพ่อย่อมรักลูกเพราะได้เลี้ยงดูอุ้มชูกันมาแต่ตีนเท่าฝาหอย   ลูกจึงเท่ากับเป็นทรัพย์  ธรรมชาติของแม่และพ่อที่ได้สร้างขึ้นมาและทนุถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูมา  พ่อแม่ที่ไม่เคยมีลูกไม่เคยเลี้ยงลูกก็คงไม่รักลูก เปรียบเหมือนเป็ดต่างกับไก่ฉนั้น 

๖๒. นกต้อยดีวิด

     นกต้อยดีวิดตัวหนึ่ง  เมื่อถึงฤดูออกไข่มันก็บบินไปตามพงหญ้ารกที่อยู่ตามท้องนาในที่โล่งๆ  และที่เปลี่ยวห่างไกลจากคนและสัตว์ที่จะมาทำอันตรายไข่ของมัน  มันไข่ซ่อนไว้ในพงหญ้า คาบเอาหญ้าแห้งหญ้าสดมาปกปิดไข่ไว้อย่างมิดชิด   แล้วออกมาหากินแล้วก็บินมากกไข่ของมัน ฟักออกมาเป็นลูกนกต้อยตีวิดตัวน้อยๆ  แต่มันสอนให้ลูกของมันรู้จักที่ซุกซ่อนอยู่ในกอหญ้า  นอนนิ่งๆ ไมไหวติงเมื่อคนหรือสัตว์เดินมาใกล้ 
     ครั้นมันเห็นคนหรือสุัตว์จำพวกเหยี่ยวกา  เดินหรือบินเข้ามาใกล้ แม่นกต้อยตีวิดจะรีบวิ่งออกไปอีกทางหนึ่ง จนห่างไข่ห่างลูกของมันแล้วก็ร้องขึ้นด้วยเสียงอันดังว่า 
     "ช่วยชีวิต ช่วยชีวิต"
     คนหรือสัตว์ก็จะหันไปมองหรือเข้ามาใกล้ตัวมัน  มันก็จะทำวิ่งหนีไปอีก บางทีก็ทำเหมือนปีกหัก บางทีก็ทำเหมือนขาหัก  เพื่อจะหลอกล่อให้คนหรือสัตว์เดินตามมันไปจนไกลไข่หรือลูกของมัน ครั้นคนหรือสัตว์เข้ามาใกล้ตัวมัน มันก็จะรีบบินหนีไปโดยเร็ว
     เจ้านกฮูก แอบดูอยู่เสมอ วันหนึ่งเจอหน้านกต้อยตีวิด จึงถามว่า
     "เราเห็นท่านร้องช่วยชีวิต ช่วยชีวิตอยู่บ่อยๆ  แต่ทำไมเจ้ามีปีกบินหนีได้โดยเร็ว  จึงไม่เห็นบินหนีกลับวิ่งหนี  เดินหนีไปเสียโดยเร็วเล่า?"
     "เราห่วงไข่ ห่วงลูกของเรา"
     "ท่านไม่กลัวตายหรือ?"
     "เรากลัวตายเหมือนกัน  แต่เรากลัวไข่กลัวลูกของเราจะได้รับอันตรายยิ่งกว่า"
     "ท่านรีบหนีไป ปากก็ร้องว่าช่วยชีวิต ช่วยชีวิต ดังลั่นจะเรียกว่าท่านห่วงลูกรักลูกยิ่งกว่าตัวเองได้อย่างไร  เรามองไม่เห็นเลยว่าท่านรักลูกห่วงลูกท่านจริงเหมือนปากว่า"
    "ก็เพราะว่า ถ้าเรารักตัวกลัวตายมากกวา่ เราก็จะบินหนึไปโดยเร็วเท่านั้นก็ปลอดภัยแล้ว  แตเราเป็นห่วงลูกของเรามากกว่า  จึงแกล้งเดินหนีไปปากก็ร้องไปเพื่อให้เขาตามเราไปจนห่างลูกของเราไงล่ะ"
     "ท่านทำเป็นปีกหักขาหักเพื่ออะไร"
     "เพื่อหลอกลวงให้เขาคิดว่าเราหนีไม่พ้นเขาแน่แล้ว  เขาจะได้รีบตามมาจับตัวเรา  เราก็วิ่งหนีไปให้ห่างลูกของเราได้  พอเขาเข้ามาใกล้ตัวเราจริงๆ  เราก็บินหนึไปโดยเร็ว  ลูกของเราก็ปลอดภัยตัวเราก็ปลอดภัย  
     นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า   เพราะความรักลูกจึงทำให้ลูกปลอดภัย และตัวเองปลอดภัยด้วย นกต้อยตีวิดจึงหลอกคนให้หลงตามมันไปจนห่างลูกของมัน ตามปัญญาของนก 

๖๓. ทุเรียนกับมะม่วง

     ลูกทุเรียนกับผลมะม่วงถูกแม่ค้านำไปวางขายไว้เคียงกันที่ตลาดขายผลไม้แห่งหนึ่ง  เมื่อทุเรียนกับมะม่วงอยู่ใกล้ชิดกัน  มันจึงทักทายทำความรู้จักกัน  แล้วคุยกันแก้รำคาญที่ต้องอยู่เฉยๆ 
     มะม่วงสาวผิวผ่องใส  มองเห็นผิวทุเรียนขรุขระ น่าเกลียดน่าชังเหมือนยายแก่จีงร้องถามว่า 
     "นี่ยายมาจากไหนนี่ละจ๊ะ?"
     "มาจากเมืองนนท์"
     "ยายชื่ออะไรล่ะยายจ๋า?"
     "ชื่อน่ะหรือเขาเรียกฉันว่าทุเรียนจ๊ะ"
    "แปลว่าอะไรละยาย  ชื่อนี้มีความหมายว่ายังไงจ๊ะยาย"
     "แปลว่า รูปชั่ว ทุแปลว่าชั่ว  เรียนแปลว่ารูปร่าง  แบบอย่าง  รวมความว่ารูปร่างขี้ริ้วขี้เหร่  รูปชั่วตัวดำน่ะแหละจ๊ะ"  ทุเรียนตอบอย่างใจดี  แล้วก็ถามมะม่วงว่า
     "แม่หนูล่ะ  มาจากไหน?"
     "มาจากเมืองเพชรจ๊ะยาย  หนูอยู่เมืองเพชร"
     "ชื่ออะไรล่ะ"
     "ชื่อมะม่วงจ๊ะยาย"
     "แปลว่าอะไรจ๊ะ"
     "แปลว่าสวยงามเหมือนผ้าม่วงที่คนนุ่งห่มน่ะแหละ เขาเรียกชื่อตามผิวพรรณของหนูจ๊ะ"
     "เนื้อหนังของแม่หนูคงดีนะจ๊ะ?"
     "หวานอร่อยเชียวแหละยาย  เขาจึงเอาหนูมาขายอยู่นี่ไงล่ะยาย"
     "เขาตีราคาหนูเท่าไรล่ะ?"
     "เขาตีราคาหนูลูกละ ๒ บาท  ถึง  ๕ บาท แล้วแต่คนซื้อ"
     "แหม รูปร่างหน้าตาดี  แต่ราคายังน้อยนะ"
     "เอ๊ะ  หนูว่าหนูมีราคาสูงมากนะยาย  แล้วยายล่ะเขาขายยายเท่าไรล่ะ"
     "ไม่แน่หรอก บางทีก็ ๕๐ บาท บางทีก็ ๑๐๐ บาท  สุดแล้วแต่กาละและบุคคลซื้อ"
     "แหม ยายนี่รูปชั่วตัวดำ แต่ราคาดี มีค่ามากจัง"
     "มันก็อยู่ที่คุณค่า  มันอยู่ที่รสชาติ  มันอยู่ที่คนเขาต้องการหรอกจ๊ะ"
     นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า  สิ่งใดจะมีค่าก็อยู่ที่คุณค่าของสิ่งน้ัน และอยู่ที่คนเขาตีราคาให้  เพราะเขาต้องการมากเขาอยากได้ เขาก็ให้ราคาสูง  มีค่ามาก  สมคำที่ท่านกล่าวว่า  ค่าของคนอยู่ที่ผลงาน   ค่าของสสารอยู่ที่คุณค่า 

วันเสาร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2558

นิทานธรรมดาโลก (๒๐)


๕๘. กบเกิดในสระจ้อย

     กบตัวหนึ่งมันเกิดและเติบโตในสระอันกว้างใหญ่แห่งหนึ่ง  มันแหวกว่ายหากินอยู่ในสระแห่งนั้นจนเป็นหนุ่ม   เวลาฝนตกมันก็ส่งเสียงร้องเรียกหาคู่  คร้ันมันได้ยินเสียงกบสาวมันก็แหวกว่ายน้ำไปหายังฝั่งตรงข้าม  มันรู้สึกว่าสระน้ำนั้นช่างกว้างใหญ่ไพศาลยิ่งนัก   กว่าจะว่ายน้ำข้ามไปพบกบสาวได้ก็แสนไกลแสนเหนื่อย  มันพบว่าสระแห่งนี้มีปลานานาชนิดทั้งปลาน้อยใหญ่ มีเพื่อนกบ คางคก เขียด มากมาย  มันมิได้อยู่ตัวเดียวเท่านั้น  มีเพื่อนสัตว์มากมายจนไม่รู้ว่าเป็นสัตว์อะไรบ้าง 
     วันหนึ่งฝนตกใหญ่มีพายุแรงมาก  น้ำท่วมท้นไปทั่ว  จนไม่รู้ว่าฝั่งสระอยู่ทีไหน  ต้นไม้ใบหญ้าก็ถูกพายุพัดพาไป สัตว์ทุกตัวก็ถูกพายุพัดสู่แม่น้ำอีกแห่งหนึ่ง  ครั้นฝนซาเม็ดลงแล้วมันก็รู้สึกว่ามันมาอยู่ในสายน้ำแห่งใหม่ ยังได้พบสัตว์แปลกหน้าตัวหนึ่งแหวกว่ายมาใกล้ๆมัน มันจึงร้องถามว่า 
      "ท่านชื่ออะไร อยูที่ไหน?"
      "เราชื่อเต่า  อยู่ในแม่น้ำแห่งนี้"
      "แม่น้ำหรือ กว้างใหญ่มากไหม"
      "โอ กว้างใหญ่แล้วยาวไม่รู้เท่าไร  เราอยู่มาจนตลอดชีวิตตั้งแต่ต้นน้ำ นี่แก่อายุเกือบร้อยปีแล้ว  ยังไม่ออกปากน้ำเลย"
     กบได้ฟังดังนั้นมันก็รู้สึกตัวว่าสระน้ำที่มันอาศัยนัน เคยคิดว่ากว้างใหญ่ไพศาลนักหนา  แต่ก็กว้างใหญ่ไม่ถึงหนึ่งในร้อยของแม่น้ำสายนี้  มันรู้สึกว่าตัวของมันเล็กกะจ้อยร่อยลงไปทันที
      นืทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า  บางทีเรานึกว่าเรารู้อะไรมากมาย เพราะเราไม่รู้ไม่ได้พบเห็นอะไรที่มากกว่า 

๕๙.ทัพพีตักแกง


     ทัพพีอันหนึ่ง ที่แม่ครัวในครัวเรือนแห่งหนึ่งใช้ตักแกงมาช้านาน  แม่ครัวรุ่นแม่ตายไปแม่ครัวรุ่นลูกก็ใช้ต่อมา  แม่ครัวรุ่นลูกตายไปแม่ครัวรุ่นหลานก็ใช้มันต่อมา   นับเป็นเวลาช้านานถึงสามชั่วคนแล้ว  มันจึงเป็นทัพพีที่มีอายุมากเต็มที  แต่มันเป็นทัพพีที่แข็งแรงดีจึงยังไม่ชำรุดบุบสลายไป
     วันหนึ่งแม่ครัวเกิดอารมณ์โกรธลูกสาวของตัว  จึงตำหนิติโทษด่าว่าต่างๆ นานา  ลงท้ายก็พูดว่า "เอ็งน่ะโง่นักไม่รู้จักจดจำคำสั่งสอนของแม่ สอนเท่าไรก็ไม่จำทำตัวเหมือนทัพพีตักแกงอันนี้  ตักแกงมาไม่รู้กี่สิบปี  ก็ไม่รู้รสแกง"
     ลูกสาวได้ฟังก็เถียงแม่ว่า 
      "แม่เอาอะไรมาพูดไม่รู้  ก็ทัพพีมันมีลิ้นที่ไหนล่ะ  มันจะรู้รสแกงได้ยังไงล่ะ?"
     ครั้นแม่ได้ฟังลูกสาวเถียงดังน้ันจีงร้องถามว่า 
     "แล้วเจ้าล่ะ  มีหู มีตา มีจมูก มีลิ้น มีปากเหมือนแม่ทุกอย่างทำไมแม่สอนให้ทำแกงเจ้าจึงไม่รู้จักทำ ?"
     "แม่รู้หรือเปล่าว่าหน้าที่กับความจำเป็นมันทำให้คนต้องทำ  เมื่อต้องทำอะไรก็ต้องเรียนรู้ต้องจดจำ  ก็หนูไม่มีหน้าที่ทำครัวไม่มีความจำเป็นหนูจึงไม่สนใจจดจำ"
     ทัพพีได้ฟังคำโต้ตอบของแม่ลูกคู่นี้ก็นึกอยู่ในใจว่า เราก็มีหน้าที่เราก็มีความจำเป็นต้องตักแกงทุกวัน แต่เราก็ทำแกงเองไม่เป็นเหมือนกัน   เพราะเรามีหน้าที่และความจำเป็นต้องตักแกงจากหม้อเท่านั้น  เราไม่มีหน้าที่ทำแกงเลยเหมือนกัน
     นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า  ใครมีหน้าที่อย่างไรก็ทำตามหน้าที่นั้น รู้ชำนาญแต่หน้าที่น้ันสิ่งอื่นไม่รู้เหมือนกัน  ไม่ว่าใคร เพราะฉนั้นอย่าไปว่าใครโง่เขลากว่าเราเลย 

๖๐. มดคาบไข่

     บ่ายวันหนึ่งเจ้าคางคกตัวหนึ่ง มันกระโดดหากินอยู่ริมรั้ว  มันพบมดฝูงหนึ่งกำลังเดินแถวมามากมายหลายร้อยหลายพันตัว ปากของมันก็คาบไข่มาด้วย  มันพากันเดินมุ่งหน้าไปยังโพรงไม้บนเนินดินที่เป็นโขดสูงอยู่ริมรั้ว  เมื่อมดหัวหน้าเดินไป มันก็พากันคาบไข่เดินตามกันไปเป็นขบวนยาวเหยียด เจ้าคางคกจึงกระโดดเข้าไปใกล้  หมายใจจะฉกกินเป็นอาหาร ก็ต้องหยุดชะงักเพราะมดจำพวกนี้ปากมันคม  ถ้าฉกไม่ดีมันก็กัดไม่ปล่อยทีเดียว  เจ้าคางคกเคยถูกมันกัดมาแล้วจึงเข็ดเคี้ยว  เต็มที  เจ้าคางคกจึงมองดูแล้วก็ร้องทักว่า 
     "เฮ้ย เจ้ามดตัวน้อยๆ  นี่เจ้าจะไปไหนกันเป็นทิวแถว?"
     "ไปหาที่อยู่ใหม่น่ะซิ"  เสียงเจ้ามดหัวหน้าร้องตอบ
     "ย้ายที่อยู่ด้วยเหตุอันใดเล่า?"
     "เราหนีฝนหนีน้ำท่วม"
     "นี่ฝนก็ยังไม่ตกน้ำก็ยังไม่ท่วมอะไรเลย"
     "เรารู้ล่วงหน้าว่าฝนจะตกน้ำจะท่วมรังเรา"
     "ทำไมเจ้ารู้ล่วงหน้าได้ เจ้ามีหมอดูแม่นๆ หรือ?"
     "ไม่ต้องมีหมอดูหมอเดาอะไร ธรรมชาติอย่างนี้ ฝูงมดเราก็รู้กันได้ทุกตัวตน"
     "รู้ได้อย่างไรว่าฝนจะตกน้ำจะท่วม"
     "รู้ได้จากอากาศร้อนอบอ้าว  อากาศกดดันเราจะรู้สึกไม่สบายและไ้ดยินเสียงคางคกกัดฟันกรอดๆ  อย่างนี้ฝนจะตกใหญ่  น้ำท่วมรังเราแน่เราจึงพากันย้ายหนึน้ำท่วมรังของเรา"
     "เจ้าได้ยินเสียงเรากัดฟันด้วยหรือนี่?"
     โอ๊ย  เรื่องธรรมดาเจ้ากัดฟันก่อนฝนตก  เราได้ยินชัดเจนมาก เป็นสัญญาเตือนภัยที่จริงเราขอบใจท่านด้วยนะ"
     "แล้วเจ้าคาบอะไรกลมๆรีๆ สีขาวๆ นั่นน่ะ ?"
     "ไข่ของเราไงล่ะ  มันกำลังจะฟักเป็นตัวมดน้อยๆ  ขืนปล่อยทิ้งไว้ในรังน้ำก็ท่วมไหลลอยไปไข่ก็เสีย  ลูกมดของเราก็ตายหมดนะซิ  ท่านตัวโตไม่น่าจะถามโง่ๆ อย่างนี้เลย"
     "แล้วเจ้ารู้ได้อย่างไรว่าที่อยู่ใหม่่จะพ้นน้ำท่วมรัง"
     "เรามองเห็นด้วยจิตวิญญาณของพวกเราว่าน้ำจะท่วมสูงเพียงไร เราก็จะหาที่อยู่ให้สูงพ้นน้ำ"
    เจ้าคางคกได้ฟังก็เงียบนึกตรึกตรองว่า  เจ้ามดตัวน้อยๆ เหล่านี้เดิมเราคิดว่ามันโง่   แต่มันฉลาดมากพอจะรักษาชีวิตให้อยู่รอดจากภัยอันตรายเหมือนกัน
     นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า  สรรพสัตว์น้อยใหญ่ทุกชนิดในโลกนี้ ย่อมมีปัญญารักษาตัวรอดเสมอ  มันจึงมีพีชพันธุ์อยู่ในโลกนี้ได้ต่อมา 

วันเสาร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2558

นิทานธรรมดาโลก (๑๙)


๕๖. พระไทรเทวา

     ยังมีต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่ง  มีอายุยั่งยืนมากว่า  ๒๐๐ ปี   มีพระเทวาองค์หนึ่งจุติมาอยู่ในต้นไทรนั้น  วันดีคืนดีพระเทวาก็แสดงเทวาภินิหารให้คนเห็น  คนก็เล่าลือกันไปว่าต้นไทรต้นนี้มีพฤกษาเทวาสถิตย์อยู่  อาจจะคุ้มภัยให้คุณแก่คนทั้งหลายได้ นับแต่นั้นมาก็มีคนมากราบไหว้บูชาสักการะอยู่เสมอ
     วันหนึ่งมีพระธุดงค์องค์หนึ่ง  เดินธุดงค์ท่องเที่ยวแสวงหาความสันโดษวิเวก  บำเพ็ญสมณธรรม  เดินผ่านมาเห็นโคนต้นไทรร่มรื่นดี  จึงปักกลดลงพักอยู่โคนต้นไทรน้ัน
     พระไทรเทวา  เห็นพระธุดงค์มาอาศัยปักกลดอยู่ที่โคนต้นไทร  ครั้นตกกลางคืนดึกสงัด  จึงปรากฎตัวมานั่งไหว้พระธุดงค์อยู่  โดยปรากฎตัวเป็นหญิงสาวสวยงามมากรูปร่างจำเริญตา  ครั้นพระธุดงค์เห็นตัวนั้นก็หลับเนตรเข้าญานภาวนา  ก็ทราบด้วยญานสมาบัติว่าหญิงสาวนี้ที่แท้ก็คือพระไทรเทวา หาใช่มนุษย์ไม่  จึงสั่งสนทนาธรรมกับพฤกษาเทวาว่า 
     "ดูก่อนท่านพฤกษาเทวา  ท่านอาศัยอยู่ที่นี่เป็นสุขดีอยู่หรือ ?"
   พฤกษาเทวา  "เป็นสุขดีพอสมแก่อัตภาพ"
   พระธุดงค์       "อาหารท่านได้มาแต่ไหน?"
   พฤกษาเทวา  "เป็นของทิพย์ ได้มาแต่บุญเก่าทำไว้แต่ปางก่อน"
   พระธุดงค์        "อาหารที่มนุษย์นำมาบวงสรวงท่าน มีอยู่เสมอหรือ"
   พฤกษาเทวา   "มีอยู่เสมอมิได้ขาดเลย บางวันก็มีมากมายจนเหลือเฟือเป็นอาหารแก่นกกา  ลิง ค่าง บ่าง ชนี และสัตว์พวกหนู มด แมงทั้งหลาย"
   พระธุดงค์        "อาหารที่มนุษย์มาถวาย  ท่านได้เสวยบ้างหรืออย่างไร?"
  พฤกษาเทวา  "ลิ้มแต่กลิ่นและรสอนัระเหิดเป็นทิพย์เท่านั้น  เหมือนท่านดมกลิ่นดอกไม้ แต่มิได้กลืนกินดอกไม้เข้าไปฉนั้น"
  พระธุดงค์   "อาหารจำพวก สุรา เมรัย บุหรี มีหรือไม่  ท่านพอใจลิ้มรสมันหรือไม่"
   พฤกษาเทวา  "อาหารมึนเมาบางชนิด  ใครมีอะไร ใครชอบอะไร ก็นึกว่าเทวดาต้องชอบอย่างนั้น  เขาก็เอามาถวายอย่างนั้นเรียกว่า อามิสบูชา คือบูชาตามมีตามชอบของคนแต่ละคน"
   พระธุดงค์   "ของถวายบูชาเหล่านี้มีคุณประโยชน์แก่เทวดาอย่างไรหรือไม่"
   พฤกษาเทวา  "อาหารที่เขานำมาถวายบูชา  ย่อมมีคุณประโยชน์แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสมอ คือ หนึ่ง  เป็นคุณประโยชน์แก่ผู้รับ สองเป็นคุณประโยชน์แก่ผู้ให็  สามเป็นคุณประโยชน์แก่สัตว์อื่น"
   พระธุดงค์   "ที่ว่าเป็นประโยชน์แก่ผู้รับก็ทราบอยู่  แต่เป็นประโยชน์แก่ผู้ให้ และเป็นประโยชน์แก่สัตว์อื่นนั้นคืออะไร?"
   พฤกษาเทวา   "เป็นประโยชน์แก่ผู้ให้คือ ได้บริจาคทาน ย่อมเกิดเป็นบุญกุศลแก่ผู้ให้ทุกครั้ง  ทุกอย่างที่บริจาคออกไปเป็นประโยชน์แก่สัตว์อื่นก็คือ  แม้เทวดาจะไม่ได้ลิ้มรส ก็ยังเป็นประโยชน์แก่นก หนู สัตว์น้อยใหญ่จะได้กินเป็นอาหาร"
   พระธุดงค์   เขาเอาอาหารมาถวายแล้ว ท่านตอบแทนเขาให้เขาไปได้ประโยชน์สมประสงค์อย่างไรหรือไม่ เช่น หายป่วยไข้   ได้โชคลาภ เป็นต้น"
   พฤกษาเทวา  "ทุกคนที่ประกอบกรรมดี  เขาย่อมได้รับผลดี  คือบุญกุศลเกิดแก่เขาทันทีในบัดดลนั้นเอง  เทวาดก็มีแต่พลอยยินดีอนุโมทนา อำนวยพรให้เขาสมประสงค์ คอยดลใจให้เขาคิดดี พูดดี ทำดี ซึ่งก็เท่ากับคอยคุ้มครองบันดาลให้เขาสมประสงค์นั่นเอง"
   พระธุดงค์  "บางคนทำทาน  ทำบุญแล้วแก่พระสงฆ์  และเทวดาก็สมความปรารถนา บางคนก็ไม่สมปรารถนา  ไม่ประสบโชค ไม่พ้นทุกข์พ้นภัย เพราะเหตุใด"
   พฤกษ่าเทวา  "เพราะศรัทธา เพราะศีล เพราะสัจจะ เพราะจาคะ  เพราะปัญญา และเพราะกรรมของเขาต่างกัน"
   พระธุดงค์   "ขอให้ท่านอธิบายให้เข้าใจ"
   พฤกษาเทวา   "ถ้าศรัทธาของเขามั่นคง และมาก เขาก็ย่อมได้รับผลมากกว่าคนที่ศรัทธาคลอนแคลน  และมีศรัทธาหัวเต่ายาวแล้วสั้นได้  เขาย่อมได้รับผลน้อยดังนี้เป็นต้น"
   พระธุดงค์   "ถ้อยคำวาจาของท่านตรงกับสัจธรรมในพระบรมศาสดาของเราทั้งสิ้น"
   พฤกษาเทวา  "ข้าพเจ้าก็กล่าวตามสัจธรรมของพระพุทธเจ้า"
   พระธุดงค์   "เหตุใดท่านจึงมีความรู้ความเข้าใจหลักธรรมในพระพุทธศาสนา"
   พฤกษาเทวา   "เพราะชาติปางก่อน  เราก็บวชอยู่ในพระพุทธศาสนาแล้วจุติมาเกิดเป็นพฤกษาเทวา"
   พระธุดงค์   "เหตุใดท่านจึงจุติมาเกิดเป็นพฤกษาเทวาดังนี้"
   พฤกษาเทวา   ไเพราะข้าพเจ้ายังไม่บรรลุมรรคผล  ยังมีอุปทานยึดมั่นอยู่  จึงยังมิหลุดพ้นเป็นพระอรหันต์เข้านิพพาน  แม้ตัวท่านก็จะมีคติเช่นเดียวกับข้าพเจ้า  ถ้ายังไม่บรรลุพระอรหันต์"
     นิทาานเรื่องนี ้ สอนให้รู้ว่า  ทุกสิ่งที่บริจาคออกไป  ย่อมมีผลแก่ผู้รับ  แก่ตัวผู้บริจาคและสัตว์อื่นเสมอ 

๕๗.กบอยู่ใต้กอบัว
     
     กบตัวหนึ่งมันเกิดอยู่ในสระและเติบโตในสระแห่งหนึ่งซึ่งมีดอกบัวหลวงบานสะพรั่ง
     วันหนึ่ง มันเที่ยวแหวกว่ายน้ำอยู่ในสระ  และเที่ยวกระโดดกินอาหารจนเหนื่อยแล้ว  มันจึงมานั่งพักบนใบบัวที่ลอยแผ่อยู่บนผิวน้ำของบึงน้ัน  มันเห็นผึ้งบินไปมาเข้าคลึงเคล้าเกสรดอกบัว  บินมาแล้วก็บินไปอยู่เสมอ  มันไม่เข้าใจว่าผึ้งเหล่าน้ันบินมาคลึงเกสรดอกบัวเพื่ออะไรกัน  มันจึงร้องถามผึ้งตัวหนึ่งว่า 
      "นั่นเจ้ามาเกาะดอกบัวทำไม?"
     ผึ้งชำเลืองมองดูกบตัวโต  แล้วอมยิ้มนิดหนึ่ง  จึงร้องตอบไปว่า
     "เจ้าน่ะตัวโตเสียเปล่า  แต่โง่เง่าอะไรอย่างนี้ก็ไม่รู้"
     "เอ็งว่าข้าโง่หรือ หัวสมองข้าโตกว่าตัวเจ้านะจะบอกให้"ฃ
     "ถ้าเช่นนั้น  ทำไมเจ้าอยู่ทีกอบัวแล้วไม่รู้คุณค่าของดอกบัวเลย"
     "ดอกบัวมีคุณค่าอย่างไรมั่ง"
     "ดอกบัวมีกลิ่นหอมหวลยั่วยวนใจ  ส่งกลิ่นหอมตามลมไปไกลจนเราอยู่แสนไกล  ก็ได้กลิ่นจึงบินมาตามลมเข้าดื่มดมกลิ่นอันหอมหวลของดอกบัว  ดอกบัวมีเกสรอันละเอียดอ่อนน่าคลุกเคล้าน่านอนนั่ง  น่าไต่ตอม  ดอกบัวมีน้ำหวานอันโอชะ เราดื่มกันแล้วอิ่มเอมหอมหวานชื่นใจนัก   เราดื่มกินแล้วก็อมเอาไปเก็บไว้ยังรวงรังของเราตลอดเวลา  ทำไมหนอสัตว์ตัวโตๆ เช่นเจ้าจึงไม่รู้จักคุณค่าของดอกบัว"
     "อ๋อ  เราไม่สนใจหรอก  ดอกบัวมิใช่อาหารของเรา  อีกอย่างหนึ่งเราเป็นสัตว์ชอบเล่นน้ำ  จมูกเป็นหวัดตลอดปี  เราจึงไม่ได้กลิ่นของดอกบัวเลย  เรากินแต่แมลงที่มาไต่ตอมดอกบัวเหมือนกัน  แต่ผึ้งอย่างเจ้าเราไม่อยากกินหรอก"
     "เพราะอะไรจึงไม่ชอบกินผึ้งอย่างเรา"
     "เพราะกินเข้าไปมันเจ็บปวดปากเหลือเกิน  สัตว์อย่างพวกเจ้านี่เป็นสัตว์ที่มีพิษร้ายแรงเกินตัวจริงๆ เวลาเป็นๆอยู่  แต่ถ้าตกน้ำตายแล้ว เนื้อของเจ้าก็อร่อยมาก"  
     นิทานเรื่องนี้ สอนให้รู้ว่า สัตว์ทุกชนิดคิดว่าตนเองฉลาด  สุัตว์อื่นโง่กว่าตนเองเสมอ