วันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2558

นิทานธรรดาโลก (๑๕)



๔๔ งูงอดกับกิ้งกือ

     คร้ังหนึ่งงูงอดกับกิ้งกือได้เดินทางมาพบกันเข้าอย่างจังหน้าโดยบังเอิญ  งูงอดตัวเล็กๆลายๆเป็นจุดขาวๆ กับกิ้งกือตัวแดงเข้ม   มีตีนถึงร้อยพันตีน ต่างก็เพ่งมองความแปลกประหลาดในรูปร่างของอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งแตกต่างกันมาก 
     ฝ่ายงูงอด  เพ่งมองจนทั่วตลอดหัวตลอดหางกิ้งกือแล้วก็ร้องถามว่า "ท่านมีตืนตั้งพันตีนเช่นนี้ เหตุไฉนจึงเดินช้านักเล่า ?"
     กิ้งกือตอบว่า "เราไม่ต้องรีบร้อนไปไหน อาหารของเราก็อยู่ตามพื้นดิน เราไม่ต้องรีบร้อนฉกฉวยหากินแก่งแย่งกับสัตว์ใด  อีกประการหนึ่งเล่า เราก็ไม่มีเวรมีภัยกับสัตว์น้อยใหญ่อื่นใด เราจึงไม่ต้องมีตีนอันว่องไวไว้สำหรับหนีหรือไล่สัตว์อื่น 
     แล้วกิ้งกือก็ถามงูงอดว่า
     "ท่านมีรูปร่างอันอัปลักษณ์แท้ๆ  ตืนมือก็ไม่มี ท่านจะเดินทางได้อย่างไร ท่านจะเอาอะไร จับอาหารกินได้เล่า ?"
     งูงอดตอบว่า 
     "เราไม่ต้องมีตืนมีเท้าให้รุงรังเกะกะเลย  เพราะเราสามารถเดินทางได้ด้วยพลังกาย พลังใจภายใน เรานึกจะไปโดยเร็วหรือช้า เราก็พุ่งตัวไปข้างหน้า หักซ้าย หักขวา  ไปด้วยกำลังลำตัวของเรา เราสามารถเดินทางได้อย่างรวดเร็วแม้ต้นไม้เราก็ขึ้นได้โดยง่าย  เราจะขึ้นต้นไม้ให้ท่านดูเดี๋ยวนี้ก็ได้"
     แล้วงูงอดก็ย้อนถามกิ้งกือว่า 
     "เวลาท่านพบศัตรู ที่จะแกล้งทำร้ายท่านเล่า ท่านจะต่อสู้ศัตรูอย่างไร?  ตืนของท่านมีมาก แต่ก็มีขนาดเล็กเหลือเกินนัก ?"
     "เราไม่ต้องต่อสู้อะไรเลย  เราเพียงแต่ม้วนตัวกลมๆ เข้าทำอาการเหมือนว่าตายแล้ว สัตว์อื่นก็เลยไม่สนใจเราอีก  เราจึงปลอดภัยเพราะการยอมแพ้ยอมตายเสียก่อน  ชีวิตของเราจึงปลอดภัยตลอดมา  ไม่มีสัตว์ใดทำลายเราโดยจงใจ นอกจากสัตว์โตๆ เผลอเหยียบเราเข้าโดยไม่จงใจเท่านั้น แต่ก็มีน้อยเหลือเกิน"
     แล้วกิ้งกือก็ย้อนถามงูงอดบ้างว่า
     "เวลาพบศัตรูท่านต่อสู้เอาตัวรอดได้อย่างไร  ไม่มีมือตีนจะต่อสู้เลย?"
     งูยิ้มอย่างน่าเกลียดแล้วตอบว่า 
     "เราก็ฉกกัดทันที เขี้ยวเรานี้ย่อมมีพิษร้ายอยู่  เมื่อเรากัดแล้ว พิษร้ายแห่งเขี้ยวเราย่อมจะทำให้สัตว์นั้นสะดุ้งหนีไป หรือบางทีก็ตายอยู่ตรงน้ันเอง"
     กิ้งกือพูดว่า  การต่อสู้เอาตัวรอดของท่านเป็นการทำร้ายผู้อื่น  ทำให้มีศัตรูมีภัยจากสัตว์อื่น  ชีวิตของท่านคงไม่ปลอดภัยเท่าไรนัก เพราะสัตว์อื่นก็ย่อมมีเขี้ยวเล็บเหมือนกันที่จะทำร้ายท่านตอบแทน โดยเฉพาะสัตว์จำพวกมนุษย์ ย่อมมีอาวุธร้ายแรง  ฟันแทง  ทุบตีท่านจนตาย  ไม่ไว้ชีวิตท่านแน่ ส่วนวิธีการต่อสู้เอาตัวรอดของเราดีกว่า ไม่ได้ทำร้ายใคร จึงไม่มีภัย ไม่มีใครเกลียดกลัวเรา แม้แต่มนุษย์ผู้มีอาวุธร้ายแรง เห็นเราแล้วก็ไม่เคยทำอันตรายเราเลย"
     นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า  สัตว์ทั้งหลายย่อมเกิดมามีร่างกายอันเหมาะสมที่จะมีชีวิตอยู่ตามอัตภาพของตน  และมีวิธีต่อสู้เอาตัวรอดของตนแตกต่างกันออกไป  ตามที่พระพรหมได้สร้างมาแล้ว  แต่การต่อสู้เอาชีวิตรอดที่ดีที่สุดนั้นคือ  การไม่ต้องทำร้ายชีวิตและร่างกาย ของสัตว์อื่น  จึงไม่มีเวรมีภัยที่จะต้องระวังตัวกลัวอะไรเลย 
๐๐๐๐๐๐๐๐

๔๕. ค่าของนกขุนทอง 
     
     ชายคนหนึ่งมีอาชีพดักนกขุนทองมาสอนให้พูดแล้วขายได้ราคาแพง เพราะเขามีความคิดแปลกๆ  แหวกแนวในการสอนให้นกขุนทองพูดให้เหมาะเจาะอยู่เสมอ
     คราวหนึ่งเขาจับนกขุนทองมาได้ตัวหนึ่ง  เขาก็สอนให้มันพูดว่า 
     "ค่าของคนอยู่ที่ผลบุญ ค่าของเจ้าคุณอยู่ที่นกขุนทอง"
     จนกระทั่งนกขุนทองพูดคำนี้ได้ชัดเจนคล่องแคล่ว  ฟังเสียงโดยไม่เห็นนกขุนทองจะนึกว่าเสียงคนพูด 
     คร้ันแล้วเขาก็นำนกขุนทองตัวนั้นไปให้เจ้าคุณองค์หนึ่ง ซึ่งเขาทราบว่าชอบเลี้ยงนกขุนทองและมักจะซื้อด้วยราคาแพงลิ่ว  เพราะตัวท่านชื่อ ขุนทอง และท่านก็มีทรัพย์มาก ไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไรด้วยเพราะท่านเป็นพระภิกษุสงฆ์
     เมื่อไปถึงกุฎิท่านเจ้าคุณองค์นั้น  เขาก็เปิดผ้าคลุมกรงนกออก ดีดมือให้นกขุนทองพูด
     "ค่าของคนอยู่ที่ผลบุญ"
     "ค่าของเจ้าคุณอยู่ที่นกขุนทอง"
     มันพูดซ้ำๆ อยู่เช่นนี้หลายคำ  เจ้าคุณขุนทองฟังแล้วก็ชอบใจยิ่งนัก ออกปากถามว่า จะเอาราคาเท่าไรก็จะซื้อไว้ฟังมันพูดเล่นเป็นคติดีนัก
     "กระผมไม่คิดราคาแก่เจ้าคุณสูงนักหรอก  มีคนขอซื้อแล้ว ๑๐๐,๐๐๐ บาท ผมยังรักของผมอยู่  ถ้าเจ้าคุณจะกรุณาให้กระผมสักแสนหนึ่ง  กระผมก็จะขอถวาย  ต่ำกว่านี้ก็ถวายไม่ได้  กระผมเสียดายกระผมรักมันมาก"
     เจ้าคุณขุนทองต้องรักษาถ้อยคำยอมจ่ายเงินให้ชายคนน้ันไป ๑ แสนบาทเพื่อจะฟังมันพูด ๒ ประโยค 
     "ค่าของคนอยู่ที่ผลบุญ"
     "ค่าของเจ้าคุณอยู่ที่นกขุนทอง"
     นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า  ค่าของคนอยู่ที่ปัญญาและวาจา  ค่าของนกกาอยู่ที่ถ้อยคำน้ำเสียงเหมือนกัน
๐๐๐๐๐๐๐๐


๔๖. งูหลักหัก

     งูเห่าดอกจันทร์ตัวหนึ่ง มันอาศัยอยู่ในพงหญ้าริมทุ่งแห่งหนึ่ง  มีหญิงชาวนาคนหนึ่งเป็นเจ้าของนาแปลงน้ัน  เมื่อเข้าฤดูฝน  หญิงชาวนาก็ไปทำนาแปลงนั้น  ครั้นแลเห็นงูเห่าตัวนั้นก็เกิดความกลัวและเมื่อกลัวแล้วก็เกลียด จึงคว้าไม้ไผ่ข้างๆมือมาตีงูเห่าดอกจันทร์ตัวนั้น  มันก็เลื้อยหนีตกน้ำไปมองหาไม่เห็น  ตกเย็นหญิงชาวนาก็เดินทางกลับบ้าน  ห่างไกลจากทุ่งนาประมาณ ๑๐๐ เส้น  ครั้นตกกลางคืนก็เข้านอน 
     ฝ่ายงูเห่าดอกจันทร์ตัวนั้น  ถูกตีหลังหักด้วยความเจ็บปวดทรมาน  จะเลื้อยก็ลำบากมากนัก  เพราะเลื้อยได้ครึ่งลำตัว  ท่อนหางตายต้องลากไป  จึงมีความโกรธแค้นคิดผูกพยาบาทหญิงน้ันอยู่ในหัวใจของมันตลอดเวลา  ด้วยแรงโกรธแค้นพยาบาท คืนน้ันท้ังคืนมันก็อุตส่าห์เลื้อยลากท่อนหางของมันไปดมกลิ่นตามทางหญ้าน้ันไปจนถึงบ้าน  คร้ันแล้วมันก็อุตส่าห์เลื้่อยตะกายบันไดเรือนขึ้นไปจนถึงที่นอนเห็นหญิงคนน้ันนอนหลับอยู่  มันก็เข้ากัดเอาที่ข้อมือที่ตีมันด้วยไม้  หญิงน้ันตกใจตื่นก็เห็นงูเห่าดอกจันทร์มานอนอยู่ข้างๆจึงตีงูเห่าจนตาย 
    แต่ก่อนจะสิ้นใจตาย  งูเห่าดอกจันทร์ตัวพยาบาทน้ันมันก็พูดว่า  "เจ้าจะฆ่าเราต้องฆ่าให้เราตายเสียเถิด  เราไม่ว่าอะไร จะได้ตายไปให้พ้นความทรกรรมลำบาก แต่ทุกตีเราให้หลังหักนี้มันทรมานเรามากนัก เราจึงติดตามมาให้ฆ่าเราให้ตายเสียเถิด"
     แต่งูเห่าดอกจันทร์ หาได้เห็นไม่ว่าหญิงชาวนาคนน้ันก็นอนตายตัวแข็งอยู่  เมื่อรุ่งเช้าเพราะพิษอันร้ายแรงของงูเห่าดอกจันทร์ตัวนั้น 
     นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า  จะฆ่าก็ฆ่าให้ตาย จะขายก็ขายให้ขาด อย่าทำอะไรครึ่งๆกลางๆ  ทิ้งไว้กลางคันเป็นอันขาด 
๐๐๐๐๐๐๐๐

     

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น