วันเสาร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

นิทานธรรมดาโลก (๓)


๗. แร้งกับเหี้ย

     ครั้งหนึ่งมีสัตว์สองชนิดเป็นมิตรสหายกัน  เพราะมีนิสัยจิตใจคล้ายคลึงกัน  คือแร้งกับเหี้ย  ทั้งแร้งกับเหี้ยเป็นสัตว์ถือศีล  ไม่เบียดเบียนสัตว์อื่นที่เกิดมาร่วมโลกนี้ไม่ว่าสัตว์เล็กหรือสัตว์ใหญ่   ก็ล้วนแต่เกิดมาร่วมโลกเดียวกัน  รักสุข เกลียดทุกข์ ไม่อยากให้สัตว์อื่นมาเบียดเบียนรังแกตน  จึงไม่ควรเบียดเบียนรังแกสัตว์อื่น  
     แร้งและเหี้ยเป็นสัตว์เดรัจฉานที่จะเกิดในชาตินี้เท่าน้ัน  เมื่อสิ้นอัตภาพนี้แล้ว เพราะเหตุที่ถือศีลโดยเคร่งครัดเช่นนี้  ก็จะได้เกิดเป็นมนุษย์ในชาติต่อไป  สัตว์ทังสองชนิดนี้มีธรรมชาติแตกต่างกันคือ  แร้งเป็นสัตว์ประเภทนก เหี้ยเป็นสัตว์สี่เท้า  ทั้งสองจึงตกลงแบ่งเขตหากินกันที่พระพรหมผู้เป็นเจ้าโลกกำหนด  แร้งให้หากินบนบกอันเป็นที่ดอนทั่วไป  ส่วนเหี้ยให้หากินตามที่ลุ่มชายแม่น้ำลำคลองทั้วไป  อาหารที่หากินน้ันคือ ซากสัตว์ที่ตายแล้ว ไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของหวงห้าม  หมายความว่าท้ังแร้งและเหี้ยจะต้องถือศีลตลอดชีวิตสองข้อ คือ ปาณาติปาตาเวรมณี งดเว้นไม่ทำลายชีวิตสัตว์อื่นเป็นอาหาร ข้อสองคือ อทินาทานาเวรมณี  งดเว้นไม่กินสัตว์ที่เจ้าของหวงห้าม เช่น เขาใส่ภาชนะไว้ หรือผูกเชือกไว้เป็นต้น   สัตว์ทั้งสองได้ถือปฎิบัติโดยเคร่งครัดตลอดมา 
     วันหนึ่งเป็นวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ  เดือน ๖ สัตว์ทั้งสองได้หยุดหากินวันหนึ่งในรอบปี และได้พบกัน ณ ที่ต้นโพธิใหญ่หน้าโบสถ์แห่งหนึ่ง  จึงได้สนทนากัน 
     คิชฌกะ  : ยังไง ท่านโยธกา สุขสบายดีหรือ 
     โยธกา   : สุขสบายดีเป็นปกติ  ท่านเล่าอาหารฝืดเคืองหรือ                                  บริบูรณ์ดีอยู่ประการใด
     คิชฌกะ : ตราบใดที่โลกนี้ยังมีสัตว์ต้องเกิด ต้องตายอยู่  อาหาร                          ของเราก็บริบูรณ์ดีอยู่ตราบน้ัน
     โยธกา :   ทราบว่า แต่ก่อนนี้ซากศพของมนุษย์ก็ทิ้งไว้ให้เป็น                              อาหารแก่ท่านบ้าง  แต่เดี๋ยวนี้มักจะฝังอย่างมิดชิด  ไม่                        กินก็เผาเสียหมดสิ้น  มิทำให้ท่านขาดอาหารหรือ 
     คิชฌกะ : ก็เป็นแต่บางประเทศหรอก แต่บางประเทศที่เกิด                                 สงครามหรือความอดอยาก และโรคระบาดก็ทอดทิ้งศพ                       ไว้  แต่บางประเทศกินไม่หวาดไม่ไหวเสียอีก
     โยธกา :  ท่านก็บินอยู่สูงเทียมเมฆ เหตุไฉนท่านจึงมองเห็น                               ซากศพได้เล่า
     คิชฌกะ : พระพรหมสร้างเรามาให้มีสายตาดีเป็นพิเศษ  มองเห็น                       ได้ชัดจากที่สูง  ก็เหมือนท่านที่มีจมูกดีเป็นพิเศษ  อาจ                       ได้กลิ่นซากศพได้ไกลๆ 
    โยธกา :   เหตุใดมนุษย์จึงถือสังหรณ์ว่าถ้าท่านลงไปที่บริเวณบ้าน                     เรือนของเขา  เขาจึงมีอันตรายเกิดวิบัติแก่ทรัพย์สินและ                     ชีวิต
    คิชฌกะ : ตามธรรมดามนุษย์  เป็นสัตว์ที่รังเกียจซากศพที่เน่า                             เปื่อยโดยเฉพาะซากศพพวกเขาเอง  เพราะเหตุที่เขา                         กลัวความตาย ด้วยเขาเกรงว่าเขาจะเป็นเหมือนซากศพ                       นั้น  เขาจึงเอาไปฝังไปเผาเสียหมดสิ้น  เราจึงไม่มี                               โอกาสได้เหยียบบริเวณบ้านเขาอยู่แล้ว  เมื่อเราละไป                          เหยียบเข้า  เขาก็ถือว่าเราจะไปกินซากศพของเขา  เขา                      จึงพากันถือสาในเรื่องนี้  แต่ก็แปลกนะท่าน  เราลงไป                          เหยียบบ้านเรือน สถานที่อยู่  ที่ทำงานของเขาคราวใด                        ก็มักจะเกิดเหตุร้ายเสมอ 
     โยธกา :  เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้นเล่า
     คิชฌกะ : เทพเจ้าสังหรณ์ใจเรา  ให้เรามองลงไปในสถานที่น้ันว่า                        มีซากศพอยู่  เราจึงลงไปเกาะ  แต่เมื่อเราลงไปกลับหา                      มีไม่  แต่ในไม่ช้านัก  ณ สถานที่น้ันก็มีซากศพจริงๆ 
     โยธกา :   เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้นเล่า
     คิชฌกะ : อาจเกิดจากดวงจิตอันบริสุทธิ์ของเราซึ่งถือศีล ไม่เสพ                       สัตว์ตายที่มีเจ้าของ ๑  ทำให้เรามองเห็นภาพซากศพ                         ตามสุถานที่น้ันล่วงหน้า เพราะเรามองเห็นจริงๆ  จึงได้                         ลงไป แต่เหตุนั้นกลับเกิดขึ้นภายหลัง  เรื่องของเราก็                           คล้ายๆเรื่องของท่าน  เรามีญาณเห็นล่วงหน้าได้ทางตา                       ฉันใด  ท่านก็มีญาณรู้ล่วงหน้าได้ทางจมูกฉันนั้น เมื่อ                           ท่านได้กลิ่นซากศพมาจากอาคารบ้านเรือนใด  ท่านขึ้น                      ไปยังบ้านเรือนน้ันมิได้พบซากศพ แต่ต่อจากนั้นไม่นาน                      ก็มีซากศพบนอาคารสถานที่ที่ท่านขึ้นไปนั้น  ท่านอาจไม่                    ทราบ แต่เราอยู่ในที่สูงจึงทราบ 
    โยธกา :  เมื่อเราเข้าไปบ้านนั้นเสียชีวิตเสมอไปหรือ
    คิชฌกะ : ไม่เสมอไปหรอก  บางทีก็สูญเสียทรัพย์อย่างอื่น  ซึ่งมีจริง ชีวิตของคนในบ้านเรือนนั้น ก็เป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของบ้านน้ัน การเสียทรัพย์กับเสียชีวิตจึงคล้ายๆกัน 
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า  ผู้มีศีลธรรมน้ัน ย่อมมีจิตบริสุทธิ์ ผู้ที่มีจิตบริสุทธิ์ย่อมมีญาณหยั่งรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าได้  แม้แต่สัตว์ตัวน้อยๆ เพราะฉนั้นมนุษย์ผู้มีศีลมีธรรม จึงมีญาณหยั่งรู้ล่วงหน้าได้จริง 


๐๐๐๐๐๐๐๐

๘.ผมหงอกกับผมดำ


     ครั้งหนึ่งผมดำกับผมหงอกพบกันในถุงขยะ   จึงได้สนทนาธรรมกัน ดังต่อไปนี้
     ผมดำ      :  ผมขาวอย่างท่าน แสดงว่าแก่แล้วใช่ไหม  เสียดายตัว                           เองไหมทีต้องแก่เช่นนี้
     ผมหงอก :  เราไม่เสียดายหรอกที่ต้องแก่  เพราะไม่ว่าสิ่งใดใน                              โลกนี้ เมื่อมีเกิดก็ต้องมีแก่ทุกสิ่งไป  แต่คำว่าแก่ของ                           ท่านน้ัน หมายความว่าแก่อะไรเล่า แก่อายุเพราะเกิด                           มานาน แก่ปัญญาเพราะศึกษามาก หรือ แก่ธรรมะ                               เพราะว่าได้เจริญปัญญามาก 
     ผมดำ     :   อ้อ  แก่นี้ก็มีหลายอย่างด้วยนะ 
     ผมหงอก :  มีมากซิท่าน แก่เหล้า แก่กัญชา แก่กิเลสตัณหา แก่กา                         มารณ์ก็มีนะ 
     ผมดำ     :  แก่อย่างท่าน เรียกว่าแก่อะไรเล่า
     ผมหงอก : แก่อย่างเราเรียกว่า แก่ธรรมะ  เพราะเราอายุก็ยังไม่                              มาก เราจะอธิบายให้ฟัง  คนบางคนอายุแก่แล้ว แต่ผม                        ก็ยังดำสนิทอยู่ คนบางคนอายุน้อย  แต่ผมก็หงอกขาว                        เราก็เป็นเส้นผมหงอกขาวบนศรีษะของคนอายุน้อย                            เราถือว่าตัวเรามีคุณค่ามากกว่าผมดำบนหัวของคน                              อายุมาก 
     ผมดำ    :   เพราะเหตุใด? 
     ผมหงอก :  เพราะเหตุว่า สีขาวหมายถึงความสะอาด ความบริสุทธิ์                        ได้ซักฟอก  ชำระล้างแล้ว  หมดความโง่แล้ว  ฉลาด                            แล้ว มีปัญญาแล้ว  หมดกิเลสตัณหาแล้ว  เป็นผู้                                  บริสุทธิ์แล้ว   ท่านคงเคยสังเกตุมาบ้างว่า  คนมีผมบน                          ศรีษะสีหงอกขาวติดคุกน้อยกว่าคนผมดำ  คนมีผม                              หงอกขาว  มีศีลมีธรรมมากกว่าคนมีผมสีดำ  คนผม                              หงอกขาวมีสติปัญญามากกว่าคนผมดำ คนผมขาวมี                            เมตตามากกว่าคนผมดำ  อันนี้ว่าโดยเฉลี่ย แม้คนหนุ่ม                        ที่มีผมหงอก ก็มีสติปัญญาสูงกว่าคนหนุ่มผมดำ ถ้า                              ท่านไม่เคยสังเกตุก็จงสังเกตุเสียตั้งแต่บัดนี้  
     ผมดำ :       เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นน้ัน 
     ผมหงอก :  พืชงอกงามดีบนดินดีฉันใด  ผมหงอกก็งอกจากหัว                               ของคนดีที่มีมันสมองดี มีศีลธรรมดีฉันนั้น
     ผมดำ  :      เหตุใดคนเด็ก และหนุ่มสาวจึงมีผมดำเล่า มิ                                        หมายความว่าคนพวกนี้สมองไม่ดี ศีลธรรมไม่ดีดอก                            หรือ 
     ผมหงอก :  ก็เป็นเช่นน้ัน เพราะเด็กและหนุ่มสาวจะมีดีมีศีลธรรมดี                        เพียงใด ก็ดีเท่าคนที่มีอายุสูงขึ้นมาแล้วไม่ได้  เหมือน                        ผลไม้รสจะหวานจัด มิได้หวานเมื่อตอนดิบ หรือห่าม                            ย่อมหวานเมื่อตอนสุกฉันใด  คนเด็กและคนหนุ่มสาวที่                        มีสมองดี มีศีลธรรมดี ก็ดียิ่งขึ้นเมื่อสู่วัยผู้ใหญ่มีผม                              หงอกแล้ว   ปัญญาจะสุขุมยิ่งขึ้น ผมที่หงอกอยู่บน                              ศรีษะเขาจึงเป็นเครื่องหมายแห่งปัญญาและธรรมะ อีก                        ประการหนึ่งผมของเขาจะเริ่มหงอกเมื่อจิตใจเขาเริ่ม                            บริสุทธิ์สะอาดขึ้นแล้ว  กิเลสของเขาได้รับการซักฟอก                        แล้ว  เส้นผมของเขาก็จะเริ่มขาวขึ้นทุกที  อีกประการ                          หนึ่ง เส้นผมที่ขาวเป็นเครื่องยับยั้งใจคนมิให้คิดชั่ว                              และทำชั่วด้วย 
     ผมดำ :      ท่านก็พรรณาผมหงอกมามากแล้ว  แต่เหตุใดเล่า                                คนในสมัยนี้จึงไม่ชอบผมหงอก ผมหงอกอยู่ก็กลับ                             ย้อมดำเสียหมด แสดงว่าโลกนิยมผมดำยิ่งกว่าผม                               หงอก ท่านจะแก้ว่าอย่างไร 
     ผมหงอก :ไม่ต้องแก้อะไร  เพราะความจริงก็มีอยู่ว่าคนทุกวันนี้                             จิตใจยังเต็มไปด้วยกิเลสตัณหามืดมนอยู่ เต็มไปด้วย                           ความลุ่มหลงมัวเมาในกามคุณ  โลภในทรัพย์ ยศ และ                         อิสตรี หรือเพศตรงข้าม จึงต้องหลอกลวตาผู้อื่นว่าตัว                           เองอายุยังไม่มาก 
     ผมดำ :     ท่านพูดอย่างนี้ไม่ถูกนะ ยังมีคนหัวหงอกอยู่ในบ้านใน                         เมืองเราอีกมากเหมือนกัน
     ผมหงอก :ถ้าเห็นคนหัวหงอกขาว  จงยกมือไหว้เถิด  เป็นมงคลเพราะท่านผู้น้ัน ย่อมมีปัญญา มีธรรมะในใจ เป็นที่ไว้ใจได้  อย่างน้อยท่านก็ไม่หลอกเด็ก 

๐๐๐๐๐๐๐๐๐ 

๙.ชาวนาเกลือกับชาวนาข้าว
     
    ครั้งหนึ่งเป็นเวลาหน้าฝน  พระพิรุณเทพบุตรจึงไขท่อธาราให้ฝนตกลงมายังภาคพื้นธรณี  คร้ังนั้นรามสูรชอบเล่นน้ำฝนกับนางเมขลา พระพิรุณจึงสั่งว่า  ท่านเล่นน้ำฝนท่องเที่ยวไปทุกแห่ง  จงได้สดับตรับฟังเสียงมนุษย์ดูด้วยว่า   จะมีความพอใจประการใด  รามสูรจึงเล่นฝนพลางฟังไปพลางจนทั่วทุกแห่ง   แล้วกลับไปทูลพระพิรุณเทพบุตรว่า  ฟังดูเสียงมนุษย์ทั่วไปดูก็พอใจอยู่เพราะเขาต้องการน้ำฝน  จะมีอยู่ก็ตำหนิว่าตกมากไปบ้าง ตกน้อยไปบ้าง คนเดินทางไม่ค่อยพอใจ เพราะเขาเดินทางไม่ได้ แต่จำพวกคนขี้เกียจแล้วเขาชอบใจมาก  เพราะเขาได้นอนกันสบาย  รวมทั้งชายหนุ่มและหญิงสาวที่แรกแต่งงานกันด้วย  เขาพอใจจะให้ฝนตกท้ังกลางคืนกลางวัน  เพราะเขาจะได้นอนด้วยกันอย่างมีความสุข 
     แต่ยังมีชาวนาอยู่  ๒ จำพวก  มีความเห็นอย่างตรงข้ามทีเดียว   คือพวกหนึ่งดีใจมากที่ฝนตก  ถ้าฝนทิ้งไปนานๆ เขาก็บ่นไปต่างๆ ถ้าฝนแล้งเขาก็ถึงแก่บนบานศาลกล่าวแห่นางแมว  เอาพระมาสวดมนต์กลางทุ่งขอให้ฝนตกบ้าง  แต่ชาวนาอีกพวกหนึ่ง เสียใจมากเมื่อฝนตก   ถ้าฝนตกบ่อยๆเขาจะบ่นว่าต่างๆ ถ้าฝนพรำ  นานไปเขาจะบนบานให้ฝนแล้ง  ชาวนาพวกนี้มีความต้องการตรงกันข้าม คือ ชาวนาข้าวต้องการให้ฝนตก แต่ชาวนาเกลือต้องการให้ฝนแล้ง  ทั้งๆที่ชาวนาเกลือก็รองน้ำฝนใส่ตุ่มไว้กินเมื่อฝนตก 
     พระพิรุณได้ฟังก็หัวเราะ  แล้วตอบว่า  ขอบใจท่านที่บอกให้เราทราบ  แต่เราก็มีหน้าที่อำนวยความสุขส่วนใหญ่ให้แก่โลกมนุษย์รวมทั้งสัตว์และพืชด้วย  เราจึงต้องทำหน้าที่ต่อไป เพราะถ้าเราไม่ทำหน้าที่ไม่ทำฝนให้ตกแล้ว  ทั้งมนุษย์สัตว์และพืช  ก็จะพากันล้มตายหมดสิ้น  ส่วนมนุษย์บางจำพวกที่ไม่ต้องการฝนนั้น เราปฎิบัตตามไม่ได้หรอก  เราทราบดีว่า มนุษย์พวกนี้ขี้เหม็น  ย่อมเคื่ยวเข็ญเทวดา ฝนตกก็แช่ง ฝนแล้งก็ด่า  เป็นธรรมดาของเขาเช่นนั้นเอง  และมนุษย์จำพวกนี้  ย่อมหาความสุขความเจริญไม่ได้ เขาย่อมเป็นมนุษย์ที่ยากจนและอดอยาก กว่าคนอื่น 
     นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า  แม้เทวดาที่มีเมตตา ก็เอาใจมนุษย์ไม่ได้หมดทุกคน  ทุกหมู่ ทุกคณะ  นับประสาอะไรเล่า ผู้ปกครองคนจะทำความพอใจให้แก่คนในปกครองได้ทุกคน ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้อยู่เอง  
๐๐๐๐๐๐๐๐

         

วันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

นิทานธรรมดาโลก (๒)



๔. หมาเหมือนเจ้าของ 

        มีแม่สุนัขตัวหนึ่ง  มันออกลูกมาแล้วหลายครอก  เมื่อลุูกมันโตขึ้นก็มีคนเอาไปเลี้ยงไว้ตามหมู่บ้านในตำบลนั้น  ลูกของมันก็ไปอยู่บ้านคนทั่วไป  ที่ไปอยู่วัดก็มี  มันยังเหลือลูกอยู่อีกตัวหนึ่งกำลังรุ่นสาว  มันจึงอยากสอนลูกของมันให้รู้ดีและชั่ว  มันจึงพาลูกของมันเที่ยวเดินตระเวนไปตามหมู่บ้านต่างๆ จนทั่ว  เมื่อมันไปถึงบ้านไหน  มันก็ได้พบลูกของมันที่เขาเอาไปเลี้ยงเติบโตเป็นหนุ่มใหญ่  แต่หารู้จักและจำแม่ของมันได้ไม่
     ตัวแรก  อยู่กับชายขอทาน  มันเห็นหมาสองตัวเดินมา มันก็วิ่งเข้ามาหากระดิกหางรัวทีเดียว แล้วก็เข้าเลียหน้าเลียหลัง
     ตัวที่สอง  อยู่กับชายนักย่องเบา  เมื่อมันเห็นหมาสองตัวเดินมา  มันก็หมอบนิ่ง  พอเดินคล้อยหลังมันก็วิ่งเข้ามาจะลักกัดลับหลัง  แต่แม่มันรู้ทันจึงหันมาดู  มันเห็นว่าแม่หมารู้ตัว  มันจึงไม่กัด
     ตัวที่สาม อยู่กับชายใจร้ายคนหนึ่ง  ซึ่งคอยทุบตีรังแกหมาอยู่เสมอ จนมันมีความหวาดกลัวทุกสิ่งทุกอย่าง  เมื่อได้ยินเสียงหมาสองแม่ลูกเดินมามันก็เห่าเสียงดังลั่น  แต่ไม่กล้าวิ่งเข้ามากัด
     ตัวที่สี่  อยู่กับเศรษฐีคนหนึ่ง  เขาล่ามโซ๋ไว้ที่บันไดบ้าน  มันถูกล่ามอยู่ตลอดเวลา  มันจึงหงุดหงิดมาก  ทำให้เป็นหมาดุ  พอเห็นหมาแม่ลูกเดินมา  มันก็เห่าเสียงดัง ดิ้นรนจะวิ่งเข้ามากัดให้จงได้
     ตัวที่ห้า  เป็นหมาวัด  เมื่อสองแม่ลูกหมา เดินเข้าไป มันก็นอนหมอบหลับตาอยู่  ไม่สนใจใครทั้งสิ้น  
       แล้วแม่หมาก็พาลูกกลับ  แม่หมาจึงบอกลูกว่า  หมาทั้งห้าตัวนั้นเป็นลูกของมันทั้งสิ้น  เป็นพี่น้องท้องเดียวกัน  แต่ลูกของมันก็มีนิสัยแตกต่างกัน เพราะหมานั้นเมื่ออยู่กับใคร มันก็มีนิสัยเหมือนคนนั้น 
     ตัวแรกอยู่กับคนขอทาน  ก็กลายเป็นหมาหัวประจบ
    ตัวที่สองอยู่กับนักย่องเบา ก็ชอบทำร้ายคนลับหลัง  มันก็กลายเป็นหมาลอบกัด
     ตัวที่สามอยู่กับชายใจร้าย มันถูกรังแกบ่อย  จนประสาทเสียมีความหวาดกลัว มันจึงเป็นหมาเห่าใบตองแห้ง
     ตัวที่สี่อยู่กับเศรษฐีใจร้าย  เลี้ยงหมาไว้เฝ้าทรัพย์ มันก็กลายเป็นหมาดุ
     ตัวที่ห้าอยู่กับพระมีศีลธรรม  มันก็กลายเป็นหมาใจบุญ
     นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า  เจ้าของเป็นคนอย่างไร  หมาก็มีนิสัยเช่นน้ัน  คนอยู่กับคนเช่นไร  ก็เป็นคนเช่นน้ัน  ถ้าอยากรู้จักตัวเรา ก็จงดูเพื่อนของเรา 


๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐


๕. ต้นไทรกับต้นสัก



     ต้นสักต้นหนึ่งซึ่งขึ้นเคียงกับต้นไทรอยู่ในป่าริมลำธารแห่งหนึ่ง  เป็นเวลาเกือบร้อยปี  ต่อมาต้นสักก็มีลำต้นใหญ่และสูงลิ่ว  แต่ต้นไทรนั้นยังเตี้ยเป็นพุ่มอยู่มีแต่กิ่งก้านสาขาแผ่ออกไปโดยรอบลำต้นไม่ใหญ่และสูงเหมือนต้นสัก   ต้นสักจึงหัวเราะเยาะต้นไทรว่าเป็นต้นไม้ไม่แข็งแรงและต่ำเตี้ย  แต่ต้นไทรก็นิ่งเงียบอยู่  มิได้โต้ตอบประการใด  คงนึกแต่ในใจว่า ต้นสักถึงจะมีลำต้นใหญ่โตและสูงก็ใหญ่และสูงเฉพาะตัว  มิได้เป็นที่พึ่งแก่ผู้ใด  แม้แต่นกกาสิงสาราสัตว์ก็มิได้อาศัย  เพราะกิ่งก้านสาขาก็ไม่มี  ใบก็ไม่ร่มชิดน่าอยุ่อาศัยของสัตว์สองเท้าและสี่เท้้าทั้งหลาย  ทั้งดอกและผลก็ไม่ชอบใจของนกกาแต่อย่างใดเลย 
     อยู่ต่อมาก็มีคนไปโค่นต้นสักนั้น  ชักลากล่องลำน้ำเข้าไปในเมือง  เอาไปนอนขอนไว้ที่โคนต้นโพธิในวัดแห่งหนึ่ง  เตรียมการจะเลื่อยเป็นกระดานทำศาลาวัดต่อไป
     เมื่อขอนสักนอนรอความตายอยู่ที่โคนต้นโพธินั้น  นึกถึงตัวเปรียบเทียบกับต้นโพธินี้ กับต้นไทรเพื่อนกันในป่าแล้วก็ร้องไห้คร่ำครวญอยู่กลางคืนดึกสงัดเสียงน้ันก็ดังจนต้นโพธิได้ยิน  ต้นโพธิจึงร้องถามว่า "ท่านร้องไห้เพราะเหตุใด"  ต้นสักก็เ่ล่าความในใจให้ฟังพลางร้องไห้พลาง 
    ต้นโพธิเป็นต้นไม้พระโพธิสัตว์  เกิดมาเป็นที่พึ่งแก่ผู้อื่น  เพราะมีกิ่งก้านสาขาร่มรื่นชื่นเย็น  เป็นที่พึ่งพาอาศัยแก่สัตว์อื่น   จึงพูดแก่ต้นสักว่า "ท่านน้ันเป็นต้นไม้ที่สูงใหญ่แข็งแรงยิ่งกว่าไม้ทั้งหลาย  แม้แต่ต้นไทรและต้นโพธิอย่างเราก็สูงใหญ่แข็งแรงสู้ท่านมิได้เลย  แต่ท่านก็เป็นประโยชน์แต่เฉพาะตัวท่าน  เมื่อท่านมีชีวิตยืนต้นอยู่ท่านมิได้เป็นประโยชน์แก่สัตว์อื่นที่เกิดมาร่วมโลกเลย  สัตว์ใดก็พี่งพาอาศัยท่านมิได้  ท่านมิได้แตกกิ่งก้านสาขายื่นออกไปปกป้องคุ้มครองให้ความร่มเย็นเป็นสุขแก่สัตว์อื่นเลย  เขาจึงโค่นเอาต้นของท่านมาทำประโยชน์เมื่อตายแล้วดังนี้  ส่วนต้นโพธิอย่างเราเมื่อเป็นต้นยืนอยู่ก็แตกกิ่งก้านสาขาออกไปปกคลุมให้ความร่มเย็นแก่สัตว์อื่นอยู่ตลอดเวลา  ยืนอยู่ก็แตกกิ่งก้านสาขาออกไปปกคลุมให้ความร่มเย็นแก่สัตว์อื่นอยู่ตลอดเวลา   เราเกิดมาเป็นประโยชน์แก่สัตว์อื่น  เราจึงมิถูกโค่นลงเอาลำต้นทำกระดาษเช่นท่าน"
      ต้นสักเมื่อได้ฟังดังนั้นก็ยิ่งร้องไห้คร่ำครวญหนักขึ้น  เพราะเสียใจในความตระหนี่เหนียวแน่นของตนเมื่อยังมีชีวิตอยู่  ต้นโพธิจึงปลอบว่า
     "ท่านอย่าร้องไห้คร่ำครวญไปเลย  บุคคลที่ตระหนี่เหนียวแน่น มิได้มีแต่ท่านซึ่งเป็นต้นไม้เท่านั้น  แม้แต่มนุษย์ผู้มีปัญญาและอำนาจก็ยังตระหนี่เหนียวแน่นอยู่อีกเป็นอันมาก  เมื่อเขาเป็นคนอยู่นั้่น ก็มีแต่จะดูดเอาสมบัติไปสะสมไว้แต่ส่วนเดียว  มิได้เผื่อแบ่งปันเป็นที่พึ่งพาอาศัยเกื้อกูลแก่ผู้ที่เกิดมาร่วมโลกเลย  เมื่อเขาตายลงเพราะพญามัจจุราชคร่าเอาชีวิตไป  เขาก็ย่อมร้องไห้คร่ำครวญเช่นเดียวกับท่านนี้แหละ"
     ต้นสักได้ฟังก็ค่อยได้สติ  กลั้นสะอื้นเงียบเสียงลงเมื่อใกล้้สว่าง  รุ่งเช้าคนก็มาเลื่อยออกทำกระดานต่อไป
     นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า   เศรษฐีขี้ตระหนี่นั้น  มักจะร้องไห้คร่ำครวญเมื่อจวนตาย เพราะเหตุที่มิได้บริจาคทรัพย์ช่วยเหลือเพื่อนร่วมโลกที่อดอยากเลย  ตัวเองก็เอาทรัพย์น้ันติดตัวไปมิได้เลยแม้แต่เท่าขนแมว 

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐


๖.เงินบาทกับแบ๊งค์บาท
     
     ครั้นหนึ่งเหรียญบาทในสมัยรัชกาลที่ ๕ กับธนบัตรใบละบาทสมัยรัชกาลที่ ๖ มาพบกันเข้า  จึงได้สนทนากันตามประสาเงินบาทด้วยกัน
     แบ๊งค์บาทกล่าวว่า "สมัยนี้เป็นสมัยต้องคล่องแคล่วว่องไว กระฉับกระเฉงทันสมัย  จึงเหมาะแก่แบ๊งค์บาทจะได้อยู่ในโลกต่อไป  เพราะเบาไปไหนคล่องแคล่ว ชาวโลกก็นิยม"  
     เหรียญบาทตอบว่า "ที่พูดมาก็จริงอยู่หรอก  แต่แบ๊งค์บาทก็จะมีอายุสั้น  สมบุกสมบันไม่ได้นาน  ก็จะทำลายไป แต่เหรียญบาทจะมีอายุยืนนานกว่าหลายเท่านัก"
     แบ๊งค์บาทตอบว่า  "สมัยของเหรียญบาทนั้นหมดแล้ว  ถึงจะมีชีวิตอยู่ก็จะถูกเก็บอยู่ในพิพิธภัณฑ์ ก้นถุง หรือคนเอาไว้ดูเป็นที่ระลึก  เขาจะไม่เอาออกรับใช้สังคมต่อไป"
     เหรียญบาทตอบว่า "การเช่นน้ันก็จะเป็นอยู่เพียงชั่วคราว  เพราะยุคสมัยหนึ่งเท่าน้ัน แล้วความนิยมของโลกก็จะหมุนกลับมานิยมเหรียญบาทอีก ถึงเหรียญบาทรุ่นเก่ารุ่นเรานี้จะค่อยหมดไป แต่ก็มีเหรียญบาทรุ่นใหม่เกิดมาแทน  แบ๊งค์บาทอย่างเจ้าซึ่งมีชื่อเสียงอย่างไพเราะว่าธนบัตรนั้นก็จะหมดความนิยม  แต่การหมดสมัยของแบ๊งค์บาทอย่างเจ้าน้ันน่าสมเพชนัก"
     แบ๊งค์บาทถามว่า "นาสมเพชอย่างไร"
    เหรียญบาทตอบว่า "แบ๊งค์บาทอย่างพวกเจ้าน้ัน  เมื่อถูกใช้มากๆเข้าก็จะสกปรกชอกช้ำและขาดวิ่นพิกลพิการไป  จนไม่สามารถเก็บไว้ดูเล่นเป็นที่ระลึกได้  เขาจึงเผาพวกเจ้าทิ้งทั้งหมด"
     แบ๊งค์บาทถามว่า  "เหตุไฉนท่านจึงทราบ"
     เหรียญบาทตอบว่า "เพราะเราเกิดมานาน จึงทำให้คาดการณ์ล่วงหน้าได้ถูกต้องนั้นอย่างหนึ่ง  เพราะเหตุเราเป็นธาตุที่อาจรับกระแสเหตุการณ์นั้นได้ง่ายอย่างหนึ่ง  อย่างไรก็ตามที่เราว่ามานี้ไม่ผิดหรอก  เจ้าคอยดูต่อไปเถิดแล้วจะได้เห็นเอง"
     แบ๊งค์บาทนิ่งตรึกตรองอยู่ครู่หนึ่งจึงถามว่า  "ไหนๆท่านก็มีวัยวุฒิสูงกว่าเรา ๑ เพราะท่านเกิดก่อน  มีชาติวุฒิสูงกว่าเรา ๑ เพราะเป็นธาตุที่แข็งแกร่งถาวรกว่า  และมีคุณวุฒิสูงกว่าเรา ๆ เพราะเป็นเงินมีค่าสูงกว่าเราซึ่งเป็นกระดาษ  เราจึงอยากจะขอคำแนะนำจากท่านในการดำเนินชีวิตต่อไป
     เหรียญบาทตอบว่า "ขอบใจที่ยกย่องและขอคำแนะนำจากเรา   แสดงว่าท่านเป็นคนดีอยู่ที่รู้จักประมาณตนและประมาณท่าน  แต่เราเสียใจที่จักกล่าวว่า  พวกเราที่ชื่อว่าเป็นผู้รับใช้ท่านนั้น  เราไม่อาจจะกำหนดโชคชะตาเราเองได้  โชคชะตาของเรานั้นอยู่ในกำมือของผู้ใช้เราเป็นส่วนใหญ่ เราจะต้องไปอยู่กับคนทุกชาติ ชั้น วรรณะ ทั้งยาจกและเศรษฐี  ทั้งคนดีและคนชั่ว แต่ข้อน้ันก็ไม่ต้องวิตกอันใด  เพราะุถึงเราจะไปอยู่กับผู้ใดเราก็จะมีค่าคงเดิม  ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามศักดิ์ของผู้นั้น  เรากำหนดโชคชะตาของตัวเราได้แน่นอนอย่างหนึ่งก็ฺคือ ค่าของเรา เราจะไม่ตกต่ำเลวทรามไปเมื่ออยู่กับคนชั่ว เช่นผู้ร้าย   เราจักไม่หยิ่งผยองมีค่าขึ้นเมื่ออยู่กับคนสูงศักดิ์   เช่น เศรษฐี หรือพระราชา  อันนี้แหละที่เป็นความภาคภูมิใจของเราโดยแท้จริง ที่ค่าของเราไม่เปลี่ยนแปลงไป  แต่การที่เราจะต้องไปอยู่กับใครที่ไหนน้ัน  เรากำหนดไม่ได้ เราเลือกที่อยู่  เลือกที่ไปไม่ได้ 
     แบ๊งค์บาทได้ฟังก็น้อมศรีษะคำนับเหรียญบาท  แล้วกล่าวว่า "ข้าพเจ้าชอบใจในถ้อยคำของท่านนักหนา ข้าพเจ้าไม่เสียใจเลยที่เกิดมาเลือกที่อยู่ทีไปไม่ได้  นับเป็นโชคชะตาได้กึ่งหนึ่ง  คือเราจักไม่เปลี่ยนเป็น ๑ สลึง เมื่ออยู่กับยาจก และเปลี่ยนเป็น ๕ บาทเมื่ออยู่กับเศรษฐี  
    "เราจะมีค่า ๑  บาทตลอดไป"
     นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า  เราไม่อาจเลือกที่เกิดที่อยู่และที่ไปได้ก็จริง  แต่เราก็อาจกำหนดคุณค่าของเราได้  คุณค่าที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสโลก อันเป็นคุณค่าดีที่สุดน้ัน คือคุณค่าของเงินดี (ไม่ใช่เงินปลอม)  คุณค่าชองคนดี  (ไม่ใช่คนชั่ว)  

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐