นิทานธรรมดาโลก
โดย เทพ สุนทรศารทูล
คำแนะนำ
ข้าพเจ้าชอบฟังนิทานตั้งแต่เด็กๆ
นิทานอีสปชอบอ่านมาก อ่านได้หลายจบ ใครเล่านิทานก็ชอบฟัง โตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ยังชอบอ่านนิทานอีสปอยู่ มีอายุมากขึ้นก็ยิ่งเห็นว่านิทานเป็นเรื่องสอนใจได้อย่างดีวิเศษ
เพราะเหตุนี้จึงได้เขียนนิทานขึ้นเองบ้าง
รวมทั้งหมดมี ๑๗๒ เรื่อง เขียนมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๙ จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๓๐ คือเขียนเรื่อยๆ มาตามอารมณ์ที่อยากเขียน เพื่อจะแสดงให้เห็นว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงรอบตัวเรานี้
ไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ มนุษย์ ล้วนแต่มีคติธรรมแฝงอยู่ทั้งสิ้น
ถ้าหากว่าเรารู้จักสังเกตพิจารณา ศาสนาฮินดูสอนว่าพระเจ้าสถิตอยู่ในทุกสิ่ง
คำสอนในพระพุทธศาสนาก็สอนว่า พระธรรมสถิตอยู่ในสิ่งทั้งปวง สัพเพ ธัมมา อนัตตา
(สิ่งทั้งปวงไม่ใช่ตัวตนเราเขา) มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยปัจจัยปรุงแต่ง
แล้วมันก็เสื่อมสลายไปเมื่อสิ้นปัจจัยปรุงแต่ง
แล้วมันก็รวมตัวเกิดขึ้นใหม่ไม่มีที่สิ้นสุด มันมีสภาวะอย่างเดียวกันกับตัวเรา
ที่เกิดดับอยู่ชั่วกัปชั่วกัลป์พุทธันดร มันมีคติธรรมอยู่ในตัว
มันเป็นเหมือนเทวทูตมาเตือนใจเราอยู่ทุกเวลานาที
เมื่อแรกแต่งนิทานขึ้นในปี
พ.ศ. ๒๕๐๙ เพื่อลงพิมพ์ในหนังสือ “สมุทรสาร” ใช้นามปากกาว่า “ขุนสมุทรสารสุนทร” เมื่อเลิกทำหนังสือนั้นก็หยุดแต่ง
ต่อมานึกอยากแต่งก็แต่งต่อเรื่อยๆ มาตามอารมณ์ จนถึง พ.ศ. ๒๕๓๘ นี้ รวมทั้งหมดมีอยู่ ๑๗๒
เรื่อง อันที่จริงยังไม่หมดเรื่องในใจ
แต่ต้องขอยุติลงเพียงเท่านี้ก่อน ขืนแต่งต่อไปก็ยืดยาวนัก ไม่รู้ว่าจะแต่งไปทำไม เพราะว่าข้าพเจ้าเป็นนักเขียนสมัครเล่นไม่มีชื่อเสียงอะไร
การเป็นนักเขียนสมัครเล่นนี้มันอาภัพอับจนอยู่ที่คนอ่านหนังสือมีน้อย
มันอยู่ในวงแคบๆ เฉพาะคนไทยที่เป็นนักอ่านหนังสือมีไม่มากสู้ฝรั่งเขาไม่ได้
ภาษาอังกฤษมันใช้กันกว้างขวางไปทั่วโลก พิมพ์ขึ้นจำนวนแสนก็มีกำไรมหาศาล
สามารถจะเขียนหนังสือเป็นอาชีพได้ ไม่ต้องเป็นนักเขียนไส้แห้งเหมือนเรา เพราะเหตุนี้จึงต้องยุติเขียนนิทานเพียงเท่านี้ก่อน
แต่หวังว่าจะเป็นประโยชน์โสตถิผลแก่คนอ่านบ้างไม่มากก็น้อย
เรื่องที่ว่าจะไร้สารประโยชน์เสียเลยคงจะไม่มี
แต่ถ้าว่ากันตามทัศนคติของคนที่แต่งนิทานอย่างข้าพเจ้า
ก็ต้องกล่าวว่า นิทานเหมาะแก่บุคคล ๔ ประเภท คือ
หนึ่ง
ครูที่มีเมตตาจิตสอนศิษย์
สอง
พ่อแม่ที่มีเมตตาจิตสอนบุตร
สาม
พระสงฆ์ที่มีเมตตาจิตสอนประชาชน
สี่
เจ้านายที่มีเมตตาจิตสอนลูกน้อง
คนทั้ง
๔ ประเภทนี้ต้องมีนิทานสอนคน การที่จะมีนิทานสอนคนได้
ก็จำเป็นต้องอ่านนิทาน เช่น นิทานชาดก นิทานอีสป นิทานพื้นเมือง
และนิทานธรรมดาโลกเล่มนี้ แล้วท่านจะไม่อับจนแก่การเล่านิทาน มีเจ้านายของข้าพเจ้าคนหนึ่งพูดว่า “การเป็นเจ้านายที่ดีต้องเล่านิทานเป็น”
เทพ
สุนทรศารทูล
๑ มิ.ย. ๓๘
คำอุทิศ
นิทานธรรมดาโลกเป็นนิทานตามอารมณ์ คือเขียนขึ้นตามอารมณ์ที่อยากเขียน
อันเป็นอุปนิสัยที่ติดตามมาแต่ชาติปางก่อน
จดจำเอามาแต่งขึ้นใหม่บ้าง ผูกเรื่องแต่งขึ้นใหม่บ้าง
ขออุทิศให้แก่
พ่อโอ้ สุนทรศารทูล
แม่ถม สุนทรศารทูล
บิดามารดาบังเกิดเกล้า
ผู้เคยเล่านิทานให้ลูกฟัง
เทพ
สุนทรศารทูล